เนื้อหาวันที่ : 2016-02-29 16:49:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1493 views

มจธ. เปิด “เคเอกซ์” อาคารมีชีวิต ดัน SMEs สู้กับดักประเทศรายได้ปานกลาง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คิดนอกกรอบ ก้าวไกลกว่างานสอนหนังสือ ผุดเมกะโปรเจกต์ บนอาคารเคเอกซ์ หรือ KX (Knowledge Exchange) อาคารมีชีวิตแห่งใหม่ย่านใจกลางเมือง ผนึกกำลังนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมยักษ์ใหญ่ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี กลุ่มอาหาร กลุ่มยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มการแพทย์ แก้วิกฤตปัญหากับดักประเทศรายได้ปานกลาง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คิดนอกกรอบ ก้าวไกลกว่างานสอนหนังสือ ผุดเมกะโปรเจกต์ บนอาคารเคเอกซ์ หรือ KX (Knowledge Exchange) อาคารมีชีวิตแห่งใหม่ย่านใจกลางเมือง ผนึกกำลังนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมยักษ์ใหญ่ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี กลุ่มอาหาร กลุ่มยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มการแพทย์ แก้วิกฤตปัญหากับดักประเทศรายได้ปานกลาง

..................................................................................................................................................................

ประเทศจะพัฒนาไปข้างหน้ามีความจำเป็นจะต้องใช้ “ความรู้” เป็นเครื่องมือสำคัญในทุกๆ ด้าน ท่ามกลางความกดดันของสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องเร่งผลิตบัณฑิตคุณภาพ สิ่งที่คาดไม่ถึงคือการมีสถาบันอุดมศึกษาคิดนอกกรอบยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่ม SMEs

โดยรศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ได้เปิดโครงการอาคารเคเอกซ์ หรือ KX (Knowledge Exchange) ซึ่งเป็น Open Collaboration Platform ทางความรู้ โดยที่อาคารแห่งนี้จะถูกบริหารจัดการให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาพูดคุยกันรวมถึงเป็นพื้นที่ให้มหาวิทยาลัยได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ลงสู่การแก้ไขปัญหาให้กับภาคธุรกิจเอสเอ็มอีได้อย่างเต็มความสามารถและครบวงจร

รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มจธ. ทำหน้าที่ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพียงแต่ มจธ. ดำเนินภารกิจ 3 ด้านไปพร้อมกัน คือ ทำวิจัย นวัตกรรมและวิชาการ มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตคุณภาพสูงและทำหน้าที่หาความรู้คือทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีคุณค่ามีความหมายต่อเศรษฐกิจ สังคมของประเทศร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันมายาวนาน ซึ่งพบว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันประเทศมีความอ่อนแอทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก มจธ. ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานกับภาคธุรกิจเอกชน และภาคอุตสาหกรรม จึงคิดว่าถึงเวลาที่ มจธ. จะต้องลงมือทำบางอย่างเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับเอสเอ็มอีและนำพาประเทศออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปพร้อมๆ กับการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยวิธีการคือ มจธ.ได้พยายามชักชวนบริษัทใหญ่ๆ พูดคุยทำความเข้าใจให้เห็นว่าการพัฒนาและช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้นสำคัญอย่างไร ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้บริษัทใหญ่ๆ เหล่านั้นได้ซื้อของที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น ราคาถูกลงเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจของคนไทย ช่วยเหลือคนเล็กๆ ซึ่งก็จะหมายถึงประเทศชาติของเราด้วย

“การจะทำแบบนี้สำเร็จได้ แน่นอนว่าความสำคัญอยู่ที่การได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เราต้องการยกสมรรถนะของเอสเอ็มอี ก่อนที่จะตกผลึกเป็นเรื่องนี้เราเดินสายคุยกับผู้บริหารระดับสูง/CEOของบริษัทเอกชนนับสิบราย หลายต่อหลายรอบ พูดคุยกับศิษย์เก่าของเราหลายคน ซึ่งทุกคนต่างก็เห็นไปในทิศทางเดียวกันในฐานะที่เราเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่อยากจะทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ในขณะที่เอสเอ็มอีในประเทศเรามีมากมายเป็นแสนๆ ราย กลไกของเราคือต้องทำงานร่วมกับคนที่มีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการเห็นเอสเอ็มอีดีขึ้น นั่นก็คือภาครัฐ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบริษัทใหญ่ๆ ก็ต้องการพัฒนาซัพพลายเชนของเขา คือ กลุ่มเอสเอ็มอีให้ป้อนสินค้าดีมีคุณภาพ ราคาถูกลงให้กับบริษัทก็จะทำให้เอสเอ็มอีมีกำไรมากขึ้นด้วย ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์และเกิดการพัฒนา ดังนั้น มจธ.จะต้องร่วมมือกับบริษัทใหญ่ๆ ให้มาก และเข้าใจว่านี่คือประโยชน์ของประเทศชาติ ความร่วมมืออีกส่วนหนึ่งก็คือภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนเอสเอ็มอีให้แข็งแรง กลไกที่เราทำขึ้นนี้รัฐต้องช่วยเหลือเราในเรื่องกิจกรรม เช่น ถ้าเอสเอ็มอีมีความต้องการที่จะพัฒนาตัวเอง บางครั้งเขาก็ต้องการผู้เชี่ยวชาญ แต่ไม่มีทุน ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยอาจจะสัดส่วน 50:50 หรือ 70:30 ซึ่งปัจจุบันนี้มีทั้งสมาคมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งประเทศไทย และ สสว.เข้ามาร่วมด้วย ส่วนภาคการศึกษาอย่าง มจธ. มีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่าง ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรีย อิหร่าน เป็นต้น เข้ามาร่วมกันที่จะวิจัยพัฒนานำความรู้มาแลกเปลี่ยนกัน สิ่งเหล่านี้เป็น Knowledge Exchange ที่เราเน้นย้ำเรื่องนี้มากและนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม มจธ. จึงต้องสร้างตึกเคเอกซ์ขึ้นมา ขณะเดียวกันก็ตั้งใจออกแบบให้อาคารนี้มีบรรยากาศที่เอื้อให้เราทุกภาคส่วนสามารถทำภารกิจเพื่อชาติบ้านเมืองให้ได้เต็มความสามารถที่สุด” 

เคเอกซ์ อาคารมีชีวิต

อาคารเคเอกซ์ มีความสูง 20 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 20,000 ตารางเมตรโดยประมาณ ภายในอาคารเป็นสถานที่ทำงานพบปะและจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ของหน่วยงาน 5 กลุ่ม ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และสถาบันการเงิน ซึ่งอาคารถูกออกแบบให้มีความเป็นระบบนิเวศ (Eco system) ที่เอื้อต่อการสร้างนวตกิจ (Start ups) และการแลกเปลี่ยนความรู้ อาทิ พื้นที่ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พื้นที่เพื่อกระตุ้นแนวคิดด้านดีไซน์ พื้นที่ทำงานของภาคธุรกิจที่เข้ามาเป็นสมาชิก พื้นที่ห้องประชุมสัมมนา พื้นที่จัดแสดงสินค้า ชิ้นงาน งานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ พื้นที่ของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นภาคีเครือข่ายที่ทำงานวิชาการและงานวิจัยต่างๆ

อธิการบดี มจธ. ระบุว่า อาคารดังกล่าว ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะสอดประสานเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่แต่ละส่วน ตามแนวคิด Interlocking in Space เพื่อรองรับหลักการดำเนินงานภายในอาคารที่มุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาคมจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษาและภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อให้บริการวิชาการกับหน่วยงานภายนอกโดยการนำความรู้และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานเครือข่าย ไปสู่การใช้ประโยชน์โดยภาคอุตสาหกรรมในลักษณะของภาคีความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีการออกแบบกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้นในอาคาร เพื่อเป็นการบริการนำความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไปช่วยเหลือภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น อาทิ การให้คำปรึกษาและพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกัน ระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มอาหาร กลุ่มยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มการแพทย์ นอกจากนี้ยังผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้สูง สร้างบุคคลที่มีความเป็น X Maker ในธุรกิจที่มีอิมแพคต่อรายได้ของประเทศโดยมหาวิทยาลัยมีเครื่องมือและความรู้พร้อมให้คำปรึกษาและรองรับผู้ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ อธิการบดี มจธ.กล่าวด้วยว่า ภารกิจดังกล่าวข้างต้นนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจของประเทศแล้วยังเป็นการช่วยให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตคุณภาพ โดยโครงการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะมีทั้งอาจารย์และนักศึกษาเข้ามาทำงานวิจัยร่วมกันกับภาคเอกชน เป็นการทำงานบนโจทย์จริงเพื่อแก้ไขปัญหาได้จริงและทำให้นักศึกษามีประสบการณ์จริงก่อนจบการศึกษาอีกด้วย

ความคืบหน้าล่าสุด มูลนิธิพัฒนานวัตกรรม มจธ. ร่วมกับบริษัทเอกชนชั้นนำ 4 แห่ง คือ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท แอโรฟลูอิด จำกัด และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท KX Consulting Enterprise Company Limited หรือ KCE ซึ่งเป็นโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ มีบทบาทในการบริหารกิจกรรมต่างๆ ของอาคารเคเอกซ์ให้เป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมทั้งให้การสนับสนุนในด้านบุคลากรและการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางธุรกิจการบริหารจัดการและการให้งบประมาณทั้งในรูปเงินลงทุนและเงินบริจาค เพื่อให้ KCE ทำหน้าที่เป็น Marketing Arms ของมหาวิทยาลัยในการดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อให้อาคารเคเอกซ์เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อพัฒนานวัตกรรมตามแนวทางที่กำหนดร่วมกัน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกแล้วราว 40 ราย