รูปแบบการลดภาษีของเจรจาเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมและประมง หรือ NAMA ภายใต้ WTO จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้การเจรจารอบโดฮามีความคืบหน้าและหาข้อสรุปได้ภายในสิ้นปีนี้
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 ประธานกลุ่มเจรจาเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมและประมง หรือ NAMA ภายใต้ WTO ได้เวียนร่างข้อบทสำหรับรูปแบบการลดภาษี (Chairman’s Modality Text) ให้สมาชิกได้พิจารณา โดยหวังว่าสิ่งที่ประธานฯ เสนอแนะนั้น จะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้การเจรจารอบโดฮามีความคืบหน้า และหาข้อสรุปได้ภายในสิ้นปีนี้ |
. |
อย่างไรก็ดี การจะได้มาซึ่งข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศโดยรวมนั้น ประธานฯ ย้ำว่า สมาชิกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนท่าทีของตนบ้าง มีความยืดหยุ่นในบางเรื่อง และคำนึงถึงหลักการของการให้และรับ โดยทุกคนจะต้องเสียสละ (all must contribute) ตามความสามารถของตน และต้องให้อย่างแท้จริง |
. |
ด้วยเหตุนี้ ประธานฯ จึงได้เสนอรูปแบบการลดภาษี (Modalities) ที่ประสานท่าทีซึ่งแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว โดยคำนึงถึงระดับของการพัฒนาที่แตกต่างกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาประกอบด้วย กล่าวคือ ในภาพรวมประธานฯ เสนอให้หลังการลดภาษี ประเทศพัฒนาแล้วมีอัตราภาษีสูงสุดไม่เกินร้อยละ 8-9 ส่วนประเทศกำลังพัฒนามีอัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 19-23 พร้อมกับให้ความยืดหยุ่นบางประการแก่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ยอมให้สินค้าจำนวนหนึ่งลดภาษีน้อยกว่าปกติ หรือไม่ต้องลดภาษีเลย |
. |
ทั้งนี้ หากสมาชิกรับร่าง Modalities ดังกล่าว จะส่งผลให้อัตราภาษีผูกพันของประเทศพัฒนาแล้วโดยรวมเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 3 และสินค้าที่มีภาษีสูง เช่น สินค้ากลุ่มประมง และเครื่องนุ่งห่ม ของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ลดลงเหลือประมาณร้อยละ 7- 8.5 ซึ่งจะช่วยให้ไทยในฐานะผู้ส่งออกสำคัญในสินค้ากลุ่มดังกล่าว ได้มีโอกาสเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ในขณะเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ก็จะมีภาษีผูกพันเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 15 ทำให้สินค้าไทยขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บราซิล อาร์เจนตินา เม็กซิโก ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป |