เนื้อหาวันที่ : 2016-02-16 15:59:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1437 views

FIBO มจธ. แนะนำ วิทยาการหุ่นยนต์กับอนาคตของประเทศไทย

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มจธ.บางมด จัดงานครบรอบ 20 ปี ชี้ อนาคตของหุ่นยนต์ไม่ได้อยู่แค่ในโรงงานอีกต่อไป คาดไม่เกิน 10 ปี ไทยจะมีความต้องการหุ่นยนต์สูงขึ้นเพื่อรองรับงานเกษตรกรรม และช่วยผ่อนแรงงานในครัวเรือนผลกระทบจากการเป็น Aging Society ในปี 2018

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จัดงาน KMUTT OPEN HOUSE 2016  ขึ้นเมื่อวันที่ 4 - 5 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมาเป็นการเปิดบ้านให้นักเรียน และผู้สนใจศึกษาเข้ามาเยี่ยมชมในคณะต่าง ๆ และในโอกาสนี้สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มจธ. ยังได้จัดงานครบรอบ 20 ปี FIBO ภายใต้แนวคิด 20th Anniversary Professional Robot Maker เหลียวหลังมองอดีต มุ่งหน้าสู่อนาคต  ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมเปิดบ้าน และการจัดแสดงนิทรรศการการรวมตัวของนวัตกรรมหุ่นยนต์จำนวนมาก ผลงานวิจัยและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์ฉีดพ่นยากำจัดแมลงสำหรับต้นมะพร้าว ระบบล้อเลื่อนแบบลุกนอนได้สำหรับสุนัขพิการขาหลัง หุ่นยนต์ค้นหาทุ่นระเบิด หุ่นยนต์ควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ตสำหรับเรียนรู้การผสมสารเคมี รวมทั้ง Augmented Reality Game เป็นต้น

ทั้งนี้ รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม กล่าวว่า FIBO เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่วิจัย บริการวิชาการ และสร้างคน เปิดสอนหลักสูตร FRA หรือ FIBO Robotics and Automation ในระดับปริญญาโทและเอกมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว และยังเป็นสถาบันแห่งแรกของไทยที่ให้ปริญญาเฉพาะทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติครบตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-โท-เอก  เพื่อสร้างคนที่เป็นผู้นำทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม บริการและสังคมต่อไป

FIBO เราเชี่ยวชาญทางด้าน robotics และ automation ซึ่งเป็นการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันทั้งวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไอที ไฟฟ้า และเครื่องกล เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่จะเข้าไปรองรับงาน
ด้านอุตสาหกรรม เราไม่ได้ทำงานเป็นระดับ mass หรือสร้างหุ่นยนต์เป็นกองทัพให้อุตสาหกรรม แต่เราเป็นสถาบันที่สร้างองค์ความรู้ใหม่และเป็นนวัตกรรมที่ทันสมัยขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดให้แก่สังคมหรืออุตสาหกรรมเพื่อนำไปต่อยอดเป็น mass ขึ้นมาได้”

นอกจากนั้นยังมี “FIBO TECH TALKS” เป็นการบรรยายเชิงวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันหลายท่าน อาทิ ผศ.ดร.ถวิดา มณีวรรณ์  อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย FIBO ได้กล่าวไว้ในการบรรยายเกี่ยวกับหัวข้อ “What is the future of smart robot?” เพื่อชี้ให้เห็นทิศทางของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งคาดการณ์ว่า ในปี 2018 ความต้องการ Service robot จะมากขึ้นและนำหน้า Industrial robot  ขึ้นไป การสร้างหุ่นยนต์ที่ดีไม่ใช่แค่สร้างให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบแต่ต้องรู้ว่าประเทศต้องการส่งเสริม หรือขาดแคลนกำลังในด้านไหน ทั้งนี้ความต้องการสูงที่สุดคือ หุ่นยนต์ประเภท Field robotics, UAV  หรือหุ่นยนต์ทั่วไปบินสำรวจการปลูกพืชพันธุ์ ใช้ในการวิเคราะห์ภาพรวมของการพ่นยา พ่นสารเคมีในฟาร์มขนาดใหญ่ รวมถึงหุ่นยนต์ทางการเกษตร ที่ช่วยในการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือให้ปุ๋ย เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงไม่มีทางที่จะหนีเรื่องนี้ไปได้ ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมเทคโนโลยีให้พร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“คิดว่าภายใน 5 - 10 ปี วงการเกษตรในเมืองไทยหลีกเลี่ยงไม่พ้น  เพราะเราจะขาดแคลนแรงงานคนทำการเกษตร ดังนั้นประเทศมีความต้องการหุ่นยนต์เข้ามาช่วย ดังนั้น นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยจะต้องเห็นว่าสิ่งที่สร้างขึ้นนั้นเหมาะกับเมืองไทยหรือไม่ คนไทยนำไปใช้ได้รึเปล่า เพราะหากความต้องการมีมากเราไม่สามารถนำเทคโนโลยีจากในยุโรปหรืออเมริกามาใช้ในบ้านเราได้ เพราะต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ต่างกัน ตอนนี้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีหุ่นยนต์มากที่สุดในโลก ตามด้วยญี่ปุ่น ส่วนเมืองไทยก็ไล่ตามมาไม่ห่างจากจีนนัก ดังนั้นสิ่งที่กำลังจะเป็นจุดเปลี่ยนตอนนี้ คือ ในอนาคตหุ่นยนต์ที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแทรกซึมอยู่ทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ และอยู่ในชีวิตประจำวัน แตกต่างจากอดีตที่หุ่นยนต์อยู่แต่ในโรงงาน แต่ในอนาคตไม่ว่าจะไปโรงเรียน โรงพยาบาลก็อาจจะเจอหุ่นยนต์อยู่ในทุกมุมของชีวิต”

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเรื่อง Aging Society เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากปี ค.ศ. 2018 นี้จะเข้าสุ่ยุคสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว สังคมจะมีผู้สูงอายุมากกว่าคนวัยทำงาน ดังนั้นจึงต้องมีการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยทุ่นแรง ซึ่งในอนาคตมนุษย์อาจจะต้องการหุ่นยนต์ที่ช่วยทุ่นแรงภายในบ้านมากขึ้น

สุดท้าย ผศ. ดร.ถวิดา ได้เผยเคล็ดลับในการสร้างหุ่นยนต์ว่า คือความฉลาดของหุ่นยนต์ที่สามารถรับรู้สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และสามารถตัดสินใจได้ ซึ่งต้องยึดหลัก 4 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการทำหุ่นยนต์ให้ใช้ได้จริง ข้อแรกต้องลงมือสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาจากสิ่งที่คิดไว้  ข้อสองเมื่อเข้าใจแล้วต้องสร้างแพลตฟอร์มมาตรฐานขึ้นมาให้สามารถใช้งานได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะนั่นคือหัวใจสำคัญของหุ่นยนต์ ข้อสามเมื่อเราต้องการความมั่นใจว่าหุ่นยนต์สามารถทำงานได้ถูกต้องด้วยการทดลองใช้จริงในงานนั้น ๆ ต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่วงการหุ่นยนต์ไทยยังขาด และข้อสุดท้ายคือต้องปล่อยหุ่นยนต์สู่โลกกว้าง ต้องนำออกไปใช้จริงบ่อย ๆ เพราะยิ่งใช้ก็จะยิ่งรู้ปัญหาและจุดบกพร่องมากขึ้น

“อย่างไรก็ตามหุ่นยนต์ไม่ได้จะมาแทนที่คนแล้วทำให้คนตกงาน แต่รูปแบบของงานที่คนทำจะเปลี่ยนไป เช่น งานที่อันตราย งานเสี่ยงภัย งานที่สกปรก งานที่คนไม่อยากทำ และงานเหล่านี้จะกลายเป็นระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์จึงไม่ได้แย่งงานคน เพราะจริง ๆ แล้วเมื่อเทคโนโลยีเกิดขึ้น มนุษย์ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงต้องสร้างและพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้ เพราะถ้าเรามีบุคลากรที่มีความรู้เราก็จะสามารถแก้ปัญหาของบ้านเราได้ตรงจุดมากขึ้น”