เนื้อหาวันที่ : 2007-07-31 10:12:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1752 views

ฮอนด้า-ทาทา จ้องเดินเครื่อง อีโคคาร์หอมค่ายรถยื่นผลิต 5ราย

"อีโคคาร์" เนื้อหอมกระทรวงอุตฯเผยผู้ผลิตรุมตอมเพียบ หลัง "ฮอนด้า" ประกาศลงทุนอย่างเป็นทางการ ตามด้วย "ทาทา" จากอินเดีย คาดก่อนเดตไลน์มีค่ายรถยื่นขอไม่ต่ำกว่า 5 ราย ชี้ชัดเรื่องยอดผลิตแสนคันและสเป็กต่างๆ ต้องทำตามกำหนด เผยค่ายรถมีเครือข่ายทั่วโลกไม่ต้องห่วงเรื่องหาตลาด ย้ำเป็นการยกระดับรถที่ผลิตจากเมืองไทยอีกทางหนึ่ง

"อีโคคาร์" เนื้อหอมกระทรวงอุตฯเผยผู้ผลิตรุมตอมเพียบ หลัง "ฮอนด้า" ประกาศลงทุนอย่างเป็นทางการ ตามด้วย "ทาทา" จากอินเดีย คาดก่อนเดตไลน์มีค่ายรถยื่นขอไม่ต่ำกว่า 5 ราย ชี้ชัดเรื่องยอดผลิตแสนคันและสเป็กต่างๆ ต้องทำตามกำหนด เผยค่ายรถมีเครือข่ายทั่วโลกไม่ต้องห่วงเรื่องหาตลาด ย้ำเป็นการยกระดับรถที่ผลิตจากเมืองไทยอีกทางหนึ่ง

.

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทรถยนต์ที่สนใจลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) เพิ่มอีกประมาณ 4-5 ราย นอกเหนือจาก 2 บริษัทที่ได้มีการประกาศโครงการลงทุนอย่างชัดเจนแล้ว คือ ฮอนด้า และทาทาจากประเทศอินเดีย โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับคำขอรับส่งเสริมการลงทุน คาดว่าจะมีบริษัทรถยนต์ยื่นขอรับการส่งเสริมในโครงการนี้เพิ่มอีกหลายราย

.

"ขณะนี้ถือว่าบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายรายให้ความสนใจโครงการอีโคคาร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากที่ฮอนด้าประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า ได้ตัดสินใจลงทุนในโครงการนี้ ส่วนทาทานั้นเท่าที่ได้คุยกันก็มีความสนใจเป็นอย่างมาก และคิดว่าน่าจะตัดสินใจลงทุนในโครงการนี้แน่นอน ส่วนผู้ประกอบการรายอื่นนั้นเมื่อเห็นว่ามีคู่แข่งตัดสินใจลงทุนแล้วก็เริ่มสนใจอย่างจริงจัง และคิดว่าภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีผู้ผลิตยักษ์ใหญ่อีกหลายรายตัดสินใจยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนอย่างแน่นอน"

.

สำหรับข้อกำหนดในการขอรับส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่กำหนดให้มีปริมาณการผลิตจริงไม่น้อยกว่า 100,000 คันต่อปี ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายรายเป็นห่วงในเรื่องนี้ว่าจะไม่สามารถทำได้ตามที่ข้อกำหนดไว้นั้น ตนมองว่าปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์มีเครือข่ายทั่วโลก การพิจารณาลงทุนในแต่ละครั้งต้องคิดอย่างรอบคอบ และต้องมีตลาดชัดเจนแล้วจึงได้ตัดสินใจลงทุน ดังนั้นในเรื่องนี้จึงคิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบริษัทรถยนต์ระดับโลก

.

ส่วนในเรื่องของการกำหนดสเป็กด้านสิ่งแวดล้อมและด้านความปลอดภัยที่บีโอไอกำหนดให้ใช้เครื่องยนต์ที่ผ่านมาตรฐานมลพิษ EURO 4 หรือสูงกว่า โดยมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากท่อไอเสียไม่เกิน 120 กรัมต่อ 1 กิโลเมตร และในด้านความปลอดภัยจะต้องมีคุณสมบัติในการป้องกันผู้โดยสารกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจากการชนด้านหน้าและด้านข้างของตัวรถ ตามมาตรฐาน UNECE Reg.94 และ Reg.95 ตามลำดับ

..

ถ้าในกรณีที่จะต้องปรับลดมาตรฐานเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่มีสเป็กต่ำกว่า และถามว่าจะสามารถนับจำนวนรวมอยู่ใน 100,000 คันในปีที่ 5 ด้วยหรือไม่นั้น นายปิยะบุตรกล่าวว่า เรื่องนี้ทางบีโอไอกำหนดสเป็กไว้แน่นอนแล้ว ดังนั้นรถในโครงการอีโคคาร์ทุกคันต้องเข้ามาตรฐานตามที่กำหนดไว้ทั้งหมด ส่วนการที่ผู้ประกอบการจะนำไปปรับลดสเป็กเพื่อการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีสเป็กรถยนต์ต่ำกว่านั้น คิดว่าไม่น่าจะนับรวมเข้าอยู่ในโครงการนี้ เพราะทางบีโอไอได้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ไว้ชัดเจนแล้ว

.

อย่างไรก็ตาม การกำหนดสเป็กดังกล่าวเป็นการกำหนดมาตรฐานการผลิตที่ชัดเจนและปลอดภัยสำหรับผู้ใช้รถ ซึ่งบริษัทรถยนต์ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลกน่าจะสามารถหาตลาดที่เหมาะสมสำหรับรถยนต์จากโครงการนี้เพื่อการส่งออกได้ และยังเป็นการยกระดับมาตรฐานของรถยนต์ที่ผลิตจากประเทศไทยด้วย

.

ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐและกระทรวงอุตสาหกรรมเอง พยายามผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของเมืองไทยให้มีความเข้มแข็ง จนถึงขณะนี้ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว และพูดได้อย่างเต็มปากว่าตอนนี้ไทยเป็นฮับของเอเชียอย่างแท้จริง เพราะมีผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายเข้ามาตั้งฐานการผลิตที่นี่และส่งออกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะรถปิกอัพซึ่งเป็น "โปรดักต์แชมเปี้ยน" อันดับหนึ่ง และขณะนี้ภาครัฐกำลังผลักดัน "อีโคคาร์" ให้เป็น "โปรดักต์แชมเปี้ยน" ตัวที่ 2 เพื่อรองรับการขยายตัวของกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศที่มีเป้าหมายยอดการผลิตครบ 2 ล้านคันในระยะเวลาอันใกล้

.
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ