เนื้อหาวันที่ : 2016-02-08 11:23:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1554 views

สศอ. ทุ่มงบ 1,017 ล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยสู่เวทีโลก

สศอ. จับมือ 18 หน่วยงาน จัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม  (พ.ศ. 2559-2564) เพื่อยกระดับผลิตภาพภาคอุตสาหกรรม พร้อมทุ่มงบประมาณ 1,017 ล้านบาท ดันอันดับความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยเทียบชั้นในเวทีโลก

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 2560 สศอ. ได้จัดทำคำของบประมาณจำนวน 1,017 ล้านบาท เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยให้สามารถแข่งขันได้บนเวทีการค้าโลก โดยมี 3 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ 1. ยกระดับผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมและระบบบริหารจัดการ 2. ยกระดับผลิตภาพแรงงานให้มีทักษะสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม และ 3. พัฒนาปัจจัยแวดล้อมเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพ

เนื่องจากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไทยมีการขยายตัวเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ โดยอาศัยปัจจัยทุน และแรงงานเป็นหลัก รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิตโดยรวม (Total Factor Productivity: TFP) ของประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ ดังจะเห็นได้จากในปี 2557 ภาคอุตสาหกรรมไทยมีการขยายตัวติดลบร้อยละ 1.1 ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของปัจจัย TFP ติดลบร้อยละ 2.52 ส่วนปัจจัยทุน และปัจจัยแรงงานขยายตัวร้อยละ 0.80 และ 0.64 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการใช้ปัจจัยการผลิตโดยรวม และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่สมดุลของภาคอุตสาหกรรมไทยที่จำเป็นต้องพึ่งพาทุนและแรงงานเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยทางด้านผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรม ของ International Institute for Management Development : IMD ในปี 2558 ยังพบว่า ประเทศไทยมีอันดับผลิตภาพที่ต่ำ อยู่อันดับที่ 51 จาก 61 ประเทศทั่วโลก ส่วนผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม มีอันดับผลิตภาพที่ต่ำเช่นกัน โดยอยู่อันดับที่ 52 จาก 61 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และคงไม่สามารถทำให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว

ดังนั้น สศอ. จึงได้ประชุมหารือร่วมกับ 18 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงแรงงาน  กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงการคลัง  กระทรวงคมนาคม  กระทรวงพลังงาน  กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) ภาคอุตสาหกรรมให้เพิ่มขึ้น

โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ 1. พัฒนาผู้ประกอบการ จำนวน 1,600 โรงงาน 2. พัฒนาบุคลากร จำนวน 10,000 คน และ 3. พัฒนาเครือข่าย 36 เครือข่าย ทั้งนี้เชื่อว่าจะสามารถขยับอันดับผลิตภาพของประเทศไทยจากอันดับที่ 51 มาอยู่อันดับที่ต่ำกว่า 45 จาก 61 ประเทศทั่วโลกได้ในอนาคต