เนื้อหาวันที่ : 2016-02-01 17:11:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1904 views

FedEx เผยผลวิจัยล่าสุดพบบริษัทข้ามชาติขนาดจิ๋วมุ่งโตเจาะตลาดโลก

เผยพลังของธุรกิจขนาดจิ๋ว อีกหนึ่งกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

บริษัทข้ามชาติขนาดจิ๋ว (Micro-multinational business) – หรือธุรกิจขนาดจิ๋ว กำลังมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากพวกเขามีเป้าหมายในการทำธุรกิจในตลาดต่างประเทศผ่านสำนักงาน และ/หรือพนักงานที่มีอยู่ในตลาดในประเทศอื่น

บริษัทขนาดจิ๋ว ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กที่ก่อตั้งขึ้นเองโดยเน้นการขับเคลื่อนด้วยบริการกำลังใช้รูปแบบธุรกิจออนไลน์ฟอร์แมตใหม่เพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากการเปิดกว้างของเศรษฐกิจโลก และเพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SME ทั้งหมด ธุรกิจขนาดจิ๋วมีการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศมากกว่า โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61 ขณะที่ SME ส่งออกเพียงร้อยละ 38 ยิ่งไปกว่านั้น การเติบโตของรายได้ของธุรกิจขนาดจิ๋วมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 68 มาจากตลาดต่างประเทศ ขณะที่ SME ทั้งหมดมีรายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 57

นี่คือส่วนหนึ่งของข้อมูลเชิงลึกที่เปิดเผยโดยงานวิจัยธุรกิจข้ามชาติชิ้นใหม่ล่าสุด ซึ่งบริษัท FedEx Express (FedEx) บริษัทในเครือของ FedEx Corp (มีชื่อเรียกในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กว่า FDX) และเป็นผู้ให้บริการขนส่งด่วนรายใหญ่ที่สุดของโลก มอบหมายให้บริษัท Harris Interactive ทำการศึกษาเมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา

นอกเหนือจากการสำรวจผลกระทบที่บริษัทขนาดจิ๋วมีต่อเศรษฐกิจโลกแล้ว หัวข้ออื่นๆ ในการวิจัยยังรวมถึงการสำรวจความท้าทายที่บริษัทขนาดจิ๋วต้องเผชิญ พวกเขาได้รับประโยชน์อย่างไรจากการใช้แรงงานทั่วโลก รวมถึงความช่วยเหลือที่พวกเขาได้รับและต้องการจากผู้ให้บริการโลจิสติกส์ทั่วโลกในการให้บริการแก่ลูกค้าทั่วโลกของพวกเขา

“ธุรกิจขนาดจิ๋วกำลังเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของธุรกิจโลกในทุกอุตสาหกรรมและขอบเขตทางภูมิศาสตร์อย่างไม่เกรงกลัวใดๆ เลย” นายราช ซูบรามาเนียม รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารทั่วโลก บริษัท FedEx Services กล่าว “ผลวิจัยยืนยันความคิดของเราที่ว่า ธุรกิจขนาดจิ๋วเป็นส่วนย่อยที่โดดเด่นของผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่พวกเขาแสวงหาโอกาสในการเติบโตในต่างประเทศ”

ผลการวิจัยระบุว่า :

  • ประมาณ 2 ใน 3 ของธุรกิจขนาดจิ๋ว (ร้อยละ 64) เชื่อว่าการมีชื่อเสียงในหลายๆ ตลาดจะทำให้ขายสินค้าข้ามพรมแดนได้ง่ายขึ้น
  • เกือบครึ่งหนึ่งของธุรกิจขนาดจิ๋ว (ร้อยละ 44) เชื่อว่าการมีชื่อเสียงในตลาดโลกทำให้มีข้อได้เปรียบมากกว่า SME ที่ขายอยู่เพียงตลาดเดียว
  • ธุรกิจขนาดจิ๋วส่วนใหญ่ (ร้อยละ 62) ไม่ได้มีชื่อเสียงในตลาดต่างประเทศตั้งแต่แรก แต่มีหลายรายที่เริ่มสร้างชื่ออย่างรวดเร็ว โดยได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
  • มากกว่าครึ่งหนึ่งของธุรกิจที่เริ่มต้นด้วยการค้าขายเฉพาะในประเทศเท่านั้นสามารถสร้างการเติบโตในตลาดต่างประเทศได้ภายในห้าปีแรก
  • ธุรกิจขนาดจิ๋วส่วนใหญ่ (ร้อยละ 71) ยอมรับว่าผู้ให้บริการโลจิสติกส์มีส่วนช่วยเหลือสำคัญในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ 

“FedEx มีประสบการณ์หลายสิบปี และวางตำแหน่งตัวเองอยู่ในฐานะที่โดดเด่นให้บริการแก่ธุรกิจขนาดจิ๋วในการนำธุรกิจของพวกเขาไปสู่ตลาดต่างประเทศ เราให้บริการลูกค้าผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและกระบวนการที่เน้นนวัตกรรมซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจขนาดจิ๋วเพื่อให้บริการลูกค้าของพวกเขาอย่างรวดเร็วและมีผลกำไร” นายซูบรามาเนียม กล่าวสรุป

งานวิจัยดังกล่าวทำการสำรวจในตลาดโลก 12 ตลาดครอบคลุม 4 ภูมิภาค ได้แก่ เอเชียแปซิฟิก ยุโรป ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง อนุทวีปอินเดียและแอฟริกา

ผลการวิจัยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการวิจัย พบว่า ธุรกิจขนาดจิ๋วส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่าการมีหน้าร้านจริงๆ ในตลาดต่างประเทศสามารถกระตุ้นการเติบโตของรายได้ โดยร้อยละ 59 เห็นพ้องกันว่า การมีสำนักงาน และ/หรือ มีพนักงานในตลาดในหลายประเทศจะช่วยให้พวกเขาขายสินค้าข้ามพรมแดนได้ง่ายขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจขนาดจิ๋วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ตั้งอยู่ในประเทศจีนและญี่ปุ่น คือพวกที่ส่วนใหญ่จะมีหน้าร้านในตลาดต่างประเทศ อันที่จริง ธุรกิจขนาดจิ๋วในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 84) ฮ่องกง (ร้อยละ 84) และจีน (ร้อยละ 82) ได้เปิดทำการสำนักงานในตลาดต่างประเทศ สูงกว่าในภูมิภาคอื่นๆ โดยประเทศจีนถือเป็นตลาดต่างประเทศที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่ธุรกิจขนาดจิ๋วในญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ และอันดับสองคือประเทศสิงคโปร์

และที่ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจขนาดจิ๋วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นกลุ่มที่อยู่ในธุรกิจมายาวนานที่สุด โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 61 ที่ดำเนินธุรกิจมามากกว่า 10 ปี ซึ่งยาวนานกว่าในภูมิภาคอื่นๆ ขณะเดียวกัน มากกว่า 2 ใน 3 (ร้อยละ 69) ของธุรกิจขนาดจิ๋วในประเทศญี่ปุ่นได้เปิดดำเนินธุรกิจมามากกว่า 20 ปี ซึ่งนานกว่าตลาดที่ทำการสำรวจอื่นๆ ถึงเกือบสองเท่า

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจขนาดจิ๋วของญี่ปุ่นกลับมีจำนวนน้อยสุดที่ขยายไปยังตลาดต่างประเทศ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.3 เมื่อเทียบกับของทั่วโลกที่เฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 ทั้งนี้ ธุรกิจขนาดจิ๋วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นในสภาวะการทำธุรกิจในปัจจุบัน โดยร้อยละ 82 เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจในหลายตลาดในปัจจุบันมีความสะดวกสบายมากกว่าเมื่อห้าปีก่อน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ  ทั้งนี้ 5 ใน 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้ทำการสำรวจในครั้งนี้  ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฮ่องกง ระบุว่า โลจิสติกส์เป็นบริการที่สำคัญที่สุดที่พวกเขาใช้ โดยไต้หวันบอกว่าโลจิสติกส์สำคัญเป็นอันดับสอง โดยไต้หวันและเกาหลีใต้เป็นสองประเทศที่ยืนยันหนักแน่นที่สุดว่าการทำธุรกิจข้ามพรมแดนในปัจจุบันทำได้ง่ายขึ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 94 และ 89 ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจขนาดจิ๋วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกบอกว่าการมีค่าแรงที่ต่ำกว่า ค่าใช้จ่ายต่อหัวต่ำกว่า และแรงงานมีทักษะที่แตกต่างกันถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ 3 อันดับแรกที่เหนือกว่า SME ที่ขายสินค้าเพียงตลาดเดียว

เกี่ยวกับการวิจัยหัวข้อ : ธุรกิจข้ามชาติขนาดจิ๋วกับการเติบโตของธุรกิจข้ามพรมแดน

บริษัท Harris Interactive ใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบผสมผสานระหว่างการใช้โทรศัพท์และสัมภาษณ์ทางออนไลน์ สอบถามผู้บริหารระดับสูงผู้มีอำนาจตัดสินใจของบริษัทข้ามชาติขนาดจิ๋วจำนวน 595 คน โดยเป็นบริษัทที่มีการจ้างงานตั้งแต่ 1 ถึง 249 คน และมีกิจการตั้งอยู่มากกว่าในหนึ่งประเทศ  การวิจัยได้ดำเนินการใน 12 ตลาดทั่วโลก ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์และเกาหลีใต้) ยุโรป (ฝรั่งเศส เยอรมนีและสหราชอาณาจักร) ละตินอเมริกา (บราซิลและโคลัมเบีย) และตะวันออกกลาง อนุทวีปอินเดียและแอฟริกา (อินเดีย)

ข้อมูลสำหรับบรรณาธิการ รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.fedex.com