เนื้อหาวันที่ : 2016-01-18 10:30:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 671 views

"Simply Connected" บ๊อชโชว์โซลูชั่นอัจฉริยะในงาน CES 2016 ลาสเวกัส

ในงาน CES 2016 (Consumer Electronics Show) หรือมหกรรมงานแสดงเทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภคระดับโลก บ๊อชได้เปิดตัวเทคโนโลยีและบริการต่าง ๆ ที่รองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยได้แสดงนวัตกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับบ้านอัจฉริยะหรือสมาร์ทโฮม เมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ และยุคอุตสาหกรรม 4.0 ในส่วนของ Smart Home Marketplace ณ Sands Expo  รวมทั้งแสดงนวัตกรรมด้านยานยนต์ที่ North Hall ทั้งหมด เพื่อแสดงศักยภาพในการรองรับการขับเคลื่อนที่เชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ต (Connected Mobility)

สมาร์ทโฮม: เปิดโอกาสให้ผู้เข้าเยี่ยมชมเห็นเบื้องลึกของบ้านแห่งอนาคต

ระบบสมาร์ทโฮม: การควบคุมอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันภายในบ้านผ่านแพล็ตฟอร์มเดียว กำลังจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงได้ ด้วยระบบสมาร์ทโฮมของบ๊อช ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้เชื่อมต่อกับแอพบนมือถือสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต โดยมีตัวควบคุมสมาร์ทโฮมของบ๊อชเป็นศูนย์กลางควบคุมระบบสมาร์ทโฮม ไม่ว่าจะเป็นระบบแสงสว่าง การทำความร้อน สัญญาณการตรวจจับควัน ระบบประตู หน้าต่าง ที่ล้วนเชื่อมต่อกันได้ ทันทีที่ผู้อยู่อาศัยปิดประตูบ้าน ก้าวเท้าออกไป จะมีการปิดไฟและลดอุณหภูมิร้อนโดยอัตโนมัติ ผลิตภัณฑ์กลุ่มแรกสำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ในบ้านที่บ๊อชนำไปจัดแสดงที่งาน CES ได้แก่ ระบบควบคุมสมาร์ทโฮม เทอร์โมสตัตอัจฉริยะ สวิทช์ประตูและหน้าต่าง รวมถึงโซลูชั่นระบบแสงสว่าง"Hue" จากพันธมิตรคือ ฟิลิปส์ โดยยังมีผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นที่พร้อมจะเปิดตัวในอนาคต

เครื่องใช้ภายในบ้านที่เชื่อมต่อกัน: บ๊อชได้จัดแสดงผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้านที่หลากหลายซึ่งสามารถเชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ต อาทิ ตู้เย็นที่ติดตั้งกล้องภายใน ซึ่งเจ้าของตู้เย็นสามารถใช้สมาร์ทโฟนเช็คตู้เย็นตอนเดินซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตได้อย่างสะดวกว่ายังมีมะเขือเทศหรือไข่เหลือพอสำหรับอาหารเช้าหรือไม่

เซ็นเซอร์ตรวจจับสภาพบรรยากาศภายในของบ๊อช: เซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพบรรยากาศของบ๊อชเป็นโซลูชั่นเซ็นเซอร์อัจฉริยะที่สามารถตรวจวัด วิเคราะห์ และสื่อสารให้ทราบถึงสภาพแวดล้อมในตัวอาคารได้ ซึ่งรวมถึงเรื่องคุณภาพอากาศ สภาวะแสงสว่าง และระดับความดังของเสียง อุปกรณ์ตรวจจับที่ติดตั้งในตัวเครื่องทำให้เกิดสภาวะอากาศที่ดีขึ้นในที่ทำงานและที่อยู่อาศัยได้ เช่น มีการส่งข้อมูลต่าง ๆ ที่อ่านได้ไปยังสมาร์ทโฟนของผู้จัดการอาคาร และแนะนำให้มีการปรับระบบระบายอากาศในห้อง ปรับอุณหภูมิ หรือความชื้นได้ พร้อมทั้งมีแบตเตอรีที่มีอายุการใช้งานยาวนาน เซ็นเซอร์ตรวจจับสภาพบรรยากาศภายในไม่เพียงแต่สามารถใช้ร่วมกับระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ในตัวอาคาร แต่ยังสามารถใช้เป็นโซลูชั่นเดี่ยวแยกต่างหากได้ด้วย

สมาร์ทซิตี้: ซอฟต์แวร์และโซลูชั่นเพื่อการจอดรถ สำหรับเมืองแห่งอนาคต

โซลูชั่นชุด IoT  (IoT Suite) ของบ๊อช: IoT Suite ของบ๊อชเป็นแพล็ตฟอร์มซอฟต์แวร์รองรับการเชื่อมต่อของแอพพลิเคชั่น บริการ หน่วยงานท้องถิ่น และองค์กรต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันในเมือง ๆ หนึ่ง โดยในงาน CES บ๊อชได้แสดงการสาธิตให้เห็นจริงว่า โซลูชั่นชุด IoT  สามารถเชื่อมต่อกับระบบจ่ายไฟ ระบบแสงสว่าง โครงสร้างพื้นฐานด้านจราจร และตัวอาคารต่าง ๆ ได้อย่างไร ซึ่งสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจการประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเมืองนั้นได้ดีขึ้น

ระบบจอดรถอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์: ระบบจอดรถอัตโนมัตินับเป็นอีกฟังก์ชั่นหนึ่งที่ไม่เพียงช่วยคนขับขจัดปัญหาเรื่องการหาที่จอดรถ แต่ยังสามารถทำให้ยานยนต์จอดได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่ผู้ขับจอดรถไว้บริเวณทางเข้าที่จอด ผู้ขับสามารถใช้แอพบนสมาร์ทโฟนสั่งการให้รถหาพื้นที่ที่จะจอดได้ และควบคุมให้รถย้อนกลับมายัง ณ จุดที่จอดตอนแรกได้ด้วยวิธีการเดียวกัน ทั้งนี้ ระบบจอดรถอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์นี้ต้องมีอุปกรณ์รองรับด้วย อาทิ โครงสร้างขั้นพื้นฐานของโรงจอดรถที่ทันสมัย ตัวเซ็นเซอร์ในรถยนต์ และการเชื่อมต่อระหว่างตัวเซ็นเซอร์และที่จอดรถ เพื่อให้รถสื่อสารกับที่จอดรถได้ โดยเซ็นเซอร์จะตรวจจับว่ามีพื้นที่ว่างและชี้ตำแหน่งจอดรถเพื่อให้รถไปจอดจุดนั้นได้ นอกจากนี้ บ๊อชได้กำลังเร่งพัฒนาอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อให้มีระบบการจอดรถอัตโนมัติภายในบ้านอย่างสมบูรณ์

การขับเคลื่อนที่เชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ต: ปลอดภัยขึ้น สะดวกขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

North Hall

ระบบจอสัมผัสโต้ตอบไว (haptic feedback): ก่อนวันแสดงงาน บ๊อชเพิ่งได้รับรางวัล CES 2016 Innovation Award in the In-Vehicle Audio/ Video category หรือรางวัลด้านนวัตกรรมสาขาเครื่องเสียง/วิดีโอในรถยนต์ อันเป็นผลจากระบบจอสัมผัสอันทันสมัยนี้  อุปกรณ์ที่ตอบสนองต่อสัมผัสไวนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการโต้ตอบทั้งด้านภาพและเสียงบนจอภาพ การจำลองเนื้อผิวสัมผัสที่หลากหลายทำให้สามารถแยกแยะปุ่มได้ด้วยการสัมผัส เพียงแตะปลายนิ้วบนจอ เมื่อใช้น้ำหนักกดลงไป ก็จะปรากฏเป็นปุ่ม เพื่อเริ่มต้นสั่งการทำงาน ช่วยให้ผู้ขับไม่เสียสมาธิยามขับขี่  เพราะไม่ต้องหันไปดูให้แน่ใจ  ทั้งนี้ จอสัมผัสที่ตอบสนองไวมีลักษณะไม่ต่างจากจอภาพทั่วไป

ระบบนำทางบนทางหลวง: ระบบนำทางบนทางหลวงจะเป็นตัวควบคุมการขับบนทางด่วน อุปกรณ์ตรวจจับหรือเซ็นเซอร์จะคอยตรวจสอบสภาวะแวดล้อมของยานยนต์ และนำข้อมูลไปผนวกกับข้อมูลแผนที่ที่มีข้อมูลล่าสุดและถูกต้องแม่นยำ นับเป็นการอำนวยความสะดวกทำให้ผู้ขับสามารถขับขี่ได้อย่างสบายใจบนทางหลวง ด้วยรถที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ ทั้งนี้ บ๊อชได้ทดสอบเทคโนโลยีนี้กับสภาพถนนจริงในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นนวัตกรรมนี้พร้อมสำหรับการผลิตเพื่อออกสู่ตลาดภายในปีพ.ศ. 2563

ยุคอุตสาหกรรม 4.0: ผู้ช่วยอัตโนมัติในการผลิต

 

โซลูชั่น IoT ในพื้นที่ผลิต (IoT shopfloor solution): งานที่ลาสเวกัสครั้งนี้  บ๊อชได้นำเสนอโซลูชั่น IoT ระดับที่นำไปใช้ในพื้นที่ผลิต  ซึ่งเป็นโซลูชั่นอัตโนมัติสำหรับการบริหารการผลิตและโลจิสติกส์ในโรงงานที่มีระบบเชื่อมต่อกัน ซึ่งระบบนี้ยังรวมถึงโมดูลซอฟต์แวร์ที่จะมาช่วยให้ สามารถควบคุมและติดตามข้อมูลการผลิต รายละเอียดด้านคุณภาพ และการดำเนินการด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้ตรงตามความต้องการต่าง ๆ ของลูกค้า อินเตอร์เฟซของผู้ใช้ที่ชาญฉลาดยังช่วยให้การทำงานกับเครื่องจักรเป็นเรื่องที่ง่ายดายยิ่งขึ้น คนงานผลิตก็สามารถกำหนดการใช้งานได้ หรือแม้แต่คนที่ไม่มีความรู้ด้านโปรแกรมมิ่งมาก่อน เช่น การกำหนดให้เครื่องตรวจจับและแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ในอนาคตระบบนี้จะเอื้อให้องค์กรสามารถเชื่อมต่อเครื่องจักรต่าง ๆ ทั่วโลกเข้าด้วยกัน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตในเวลาที่เกือบจะเป็นเรียลไทม์ได้ โซลูชั่นสำหรับการใช้ในระบบการผลิตยังมีครอบคลุมถึงแอพฯ เออาร์  (augmented reality app) เพื่อนำเสนอข้อมูลการผลิตล่าสุด หรือคำแนะนำในการปฏิบัติการให้แก่ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่หน้างาน เพื่อให้สามารถตรวจสอบเครื่องจักรได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่อง