เนื้อหาวันที่ : 2007-07-25 09:56:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1828 views

EU-Flower ใบเบิกทางนำสิ่งทอไทยสู่ตลาด EU

นักวิจัย JGSEE หนุนช่วย 4 โรงงานสิ่งทอไทย ได้รับ EU-Flower เป็นครั้งแรกในเอเชีย เป็นฉลากรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สหภาพยุโรปกำหนดขึ้น เชื่อสิ่งทอไทยสู่ตลาดยุโรปได้ในอนาคต

.

นักวิจัย JGSEE หนุนช่วย 4 โรงงานสิ่งทอไทย ได้รับ EU-Flower เป็นครั้งแรกในเอเชีย โดย EU-Flower เป็นฉลากรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สหภาพยุโรปกำหนดขึ้น เชื่อเป็นใบเบิกทางสำคัญสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอของไทยสู่ตลาดยุโรปในอนาคต

.

กระแสความตื่นตัวภาวะโลกร้อนที่แรงขึ้นทุกขณะ ในทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้ประชากรโลกเริ่มหันมาใส่ใจต่อแนวทางการดำเนินชีวิตที่จะช่วยบรรเทาภาวะโลก ซึ่งการเลือกบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถือเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ โดยหลายๆ ประเทศได้มีการกำหนดเกณฑ์การตัดสินใจให้ประชาชนเลือกใช้สินค้าที่มี ฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรที่สิ่งแวดล้อม (Eco-label) ซึ่งแต่ละประเทศจะมีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น ประเทศไทยใช้คำว่า ฉลากเขียว เยอรมันใช้คำว่า Blue angle และสหภาพยุโรปใช้คำว่า EU-flower

.

ผศ.ดร.แชบเบียร์ กีวาลา บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เปิดเผยว่า สหภาพยุโรปถือเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสนใจสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากการเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนหลายประเภท ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมทั้งมีการออกกฎระเบียบที่ควบคุมเคมีภัณฑ์ (REACH) ระเบียบว่าด้วยการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (WEEE) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรที่สิ่งแวดล้อม หรือ EU-flower ซึ่งแม้ปัจจุบันฉลากนี้ยังไม่ได้เป็นมาตรการที่เข้มงวดสำหรับผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ แต่ในอนาคตหากประชาชนหันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็เท่ากับเป็นการบีบบังคับให้ผู้ผลิตต้องหันมาปรับปรุงศักยภาพในการผลิต โดยเฉพาะผู้ผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตมากเป็นอันดับต้นๆ

.

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นของไทยที่ส่งไปยังกลุ่มสหภาพยุโรปไม่ถูกกีดกันทางการค้า จึงได้มีการจัด โครงการพัฒนาขีดความสามารถของสถาบันและอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยด้านมาตรฐานและฉลากสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศในสหภาพยุโรป ขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ (TTC) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU) และ Danish Technological Institute (DTI) เพื่อคัดเลือกบริษัทสิ่งทอที่มีศักยภาพพอที่จะผลักดันให้ได้รับ EU-flower

ผศ.ดร.แชบเบียร์ กล่าวในฐานะที่ปรึกษาทางวิชาการของโครงการว่า การพัฒนาศักยภาพในโรงงานสิ่งทอให้มีมาตรฐานตามที่ EU-flower กำหนด จะต้องเข้าไปพิจารณากระบวนการผลิตตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) ซึ่งหมายถึงการพิจารณาขั้นตอนการผลิตอย่างละเอียดในทุกขั้น ตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุเพื่อใช้

.

ในการผลิต กระบวนการผลิต ของเสียที่ปล่อยออกจากกระบวนการผลิต รวมทั้งกระบวนการจัดส่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งโรงงานสิ่งทอส่วนใหญ่จะมีปัญหาคล้ายกัน คือ ปัญหาเรื่องสารเคมี ยาฆ่าแมลง น้ำเสีย และน้ำยาเคลือบกันแมลง "ปัญหาเรื่องสารเคมี ถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับโรงงานสิ่งทอ เนื่องจากเกือบทุกกระบวนการจะมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก เช่น กระบวนการย้อม กระบวนการฟอก กระบวนการทำความสะอาด เป็นต้น การเข้าไปช่วยปรับปรุงโรงงานในขั้นตอนแรกจะมีการตรวจสอบเอกสารรับรองความปลอดภัยของสารเคมี (Material Safety Data Sheet : MSDS) ซึ่งจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับสารเคมี เช่น ที่มาของสารเคมี ความเป็นพิษของสารเคมี และระยะเวลาการย่อยสลายของสาร เป็นต้น โดยรายละเอียดของสารเคมีใน MSDS จะช่วยบอกมาตรฐานของสารเคมีที่ใช้ในโรงงาน และหากพบว่าสารเคมีที่ใช้เป็นสารเคมีต้องห้ามของสหภาพยุโรป โรงงานจำเป็นต้องเปลี่ยนสารเคมีชนิดใหม่ที่ได้รับการอนุญาตแทน"

.

"นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องสารเคมียังส่งผลถึงน้ำเสียที่ออกจากระบบด้วย โดยในระบบบำบัดน้ำเสียจะพิจารณาที่ปริมาณโลหะหนักที่ละลายในน้ำ และค่า COD : Chemical Oxygen Demand (ค่าที่แสดงถึงความสกปรกของน้ำเสีย ปริมาณสารอินทรีย์ทั้งหมดในน้ำทิ้งที่จุลินทรีย์ย่อยสลายได้และย่อยสลายไม่ได้) ไม่ให้มีปริมาณมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำได้ ซึ่งข้อแนะในการแก้ปัญหาน้ำเสีย มีอยู่ 2 แนวทางคือ การเพิ่มกระบวนการบำบัดน้ำเสียให้มากขึ้น หรือ ย้อนกลับไปแก้ไขที่ต้นทางการปล่อยสารเคมี เช่น หากพบว่ามีโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ก็ควรพิจารณาเปลี่ยนสารเคมีที่มีคุณภาพ ที่สามารถยึดติดกับผ้าได้ดี จะช่วยให้สารเคมีหลุดออกมาจากระบบน้อยลง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดโลหะหนักในน้ำเสียได้แล้ว ยังเป็นการประหยัดสารเคมีได้อีกทางหนึ่งด้วย"

.

ปัญหาที่อาจพบได้กับโรงงานสิ่งทอที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น โรงงานผลิตผ้าฝ้าย มักมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่มีการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงจากกระบวนการปลูกต้นฝ้าย ซึ่งหากพบปัญหาเช่นนี้ โรงงานจะต้องเปลี่ยนที่มาของวัตถุดิบทันที นอกจากนี้ ในกระบวนการขนส่งผลิตภัณฑ์ มักพบปัญหาแมลงกัดกินเนื้อผ้า โดยที่ผ่านมาแก้ปัญหาโดยการใช้สารเคลือบผ้ากันแมลง ซึ่งตามมาตรฐานของ EU-flower ห้ามใช้สารประเภทนี้ ซึ่งในกรณีนี้มีแนวทางแก้ปัญหาคือ เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จากเดิมที่มีการขนส่งไปยังประเทศผู้ส่งออกครั้งละหลายประเทศ และใช้ระยะเวลาขนส่งนานหลายเดือน ทำให้สินค้าสิ่งทอที่เก็บไว้มีความเสี่ยงที่จะถูกแมลงกัด ทำลาย ให้เปลี่ยนเป็นการส่งไปยังประเทศนั้นๆ โดยตรง ซึ่งใช้เวลาไม่นานเกินหนึ่งเดือน และช่วยลดปัญหาแมลงกัดสินค้าได้โดยไม่ต้องเคลือบสารป้องกันแมลง

.

ผศ.ดร.แชบเบียร์ กล่าวอีกว่าการเข้าไปปรับปรุงมาตรฐานการผลิตให้กับ 4 บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการพัฒนาขีดความสามารถฯ ทำให้ทั้ง 4 บริษัทได้รับมาตรฐาน EU-flower ได้แก่ บริษัท เอเชียไฟเบอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเส้นใยไนล่อนย้อมสี บริษัท กรีนวิลล์ เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตผ้าไหมย้อม บริษัท ทองไทยการทอ จำกัด ผู้ผลิตผ้าย้อม สิ่งทอ และเสื้อผ้าฝ้าย 100% และบริษัท รามาเทกไทล์อินดัสตรี้ (1988) จำกัด ผู้ผลิตด้ายย้อมสี ซึ่งนับเป็น 4 บริษัทแรกในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรป แต่อย่างไรก็ดี ประโยชน์ที่ 4 บริษัทได้รับ ไม่ใช่เพียงการได้รับการรับรองเท่านั้น แต่การพิจารณากระบวนการผลิตตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ยังช่วยให้โรงงานสามารถลดการใช้ทรัพยากรที่ฟุ่มเฟือยลง ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำ และพลังงานในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งต้นทุนด้านทรัพยากรที่ลดลงนี้ สามารถนำไปช่วยเสริมค่าใช้จ่ายด้านสารเคมีได้ นอกจากนี้ในแง่การตลาดและการได้รับการรับรองมาตรฐานยังช่วยให้โรงงานสามารถส่งออกในตลาดของกลุ่มสหภาพยุโรปปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย

.

สำหรับโรงงานสิ่งทอที่สนใจยกระดับศักยภาพการผลิต สามารถหารายละเอียดได้จากอินเทอร์เน็ต หรือติดต่อสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อรับข้อมูลการเข้าร่วมโครงการ ที่ http://www.thaitextile.org/