เนื้อหาวันที่ : 2015-12-25 17:10:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2105 views

มจธ.นำองค์ความรู้ ‘วิศว์ วิทย์ ศิลป์’ พัฒนาพื้นที่โครงการสวนป่าหนองเขื่อน สู่ “แหล่งเรียนรู้ฟาร์มกวางเพื่อเศรษฐกิจครบวงจร” อย่างยั่งยืนแห่งแรก

โครงการสวนป่าหนองเขื่อน ในมาตรฐานฟาร์มกวางแห่งประเทศไทย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนที่เพาะพันธุ์เพื่อการค้าเป็นสัตว์เศรษฐกิจ โดยเน้นเพาะพันธุ์กวางเป็นหลัก ในพื้นที่กว่า 90 ไร่ ตั้งอยู่ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี  ปัจจุบันมีกวางอยู่ทั้งสิน 6 สายพันธุ์ โดยมีกวางสายพันธุ์ที่เป็นสัตว์ป่าสงวน คือ พันธุ์กวางม้า (Sambar Deer) และพันธุ์เนื้อทราย (Hog Deer) มีระบบการจัดกวางที่มีมาตรฐาน มีใบอนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่า ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ สัตวบาล เน้นดูแลเรื่องสุขภาพสัตว์ การจัดการสัตว์อย่างถูกต้องมีระบบ (Animal Welfare) ในพื้นที่ปลอดสารเคมีเป็นพิษด้วยแนวคิดเกษตรอินทรีย์ใช้สำหรับนำมาเป็นอาหารของกวาง ล่าสุดเตรียมปรับพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tourism)สถานที่วิจัยและแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์จากกวางแบบครบวงจรแห่งแรกของโลก

คุณจิตรา เหลืองทองวัฒนา ผู้บริหารบริษัท อิมเมจโฟกัส โฮลดิ้ง จำกัด และผู้บริหารโครงการสวนป่าหนองเขื่อน กล่าวว่า โครงการสวนป่าหนองเขื่อน คือแนวคิดเพื่อเกษตรกรยุคใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 มีเป้าหมายให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อการค้าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ทางบริษัทฯ ยังได้เตรียมพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์การเรียนรู้วิจัย อบรมสัมมนา เพื่อที่จะสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน และให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมถึงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกวางเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ จากกวางที่ปลอดสารพิษ ซึ่งจะทำให้ที่แห่งนี้เป็นทั้งสถานที่วิจัยและอนุรักษ์ไปพร้อมๆกัน

“ เนื่องจากเล็งเห็นว่าผลิตภัณฑ์จากกวางมีคุณประโยชน์นานับปการ ที่ผ่านมาเราได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีด้านการวิจัยและพัฒนามาโดยตลอด และมีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์แล้วว่าส่วนต่างๆของกวางสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพได้จริง ไม่ว่าจะเป็น เขากวางอ่อน รกกวาง เลือดกวาง โดยเราได้นำเทคโนโลยีการอบแห้งแบบแช่แข็ง (Freeze dry Technology) เข้ามาใช้กระบวนการผลิตซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับจากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบทำให้เราสามารถพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบขึ้นและได้จดทะเบียนภายใต้ชื่อ “โครงการสวนป่าหนองเขื่อน” ไว้เป็นที่เรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำโรงงานต้นแบบที่ได้มาตรฐานGMP รวมทั้งการปรับปรุงภูมิสถาปัตย์ภายในโครงการสวนป่าหนองเขื่อนทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนเริ่มดำเนินการโดยความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่เข้ามาช่วยในการปรับปรุงวิจัยและพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิต การออแบบโครงสร้างอาคาร การบรรจุภัณฑ์ ระบบการจัดการน้ำและระบบพลังงานไฟฟ้าทดแทนด้วยหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ”

และจากการที่บริษัทฯ มุ่งหวังที่จะทำให้เป็นศูนย์การอบรมและการเรียนรู้กวางแบบครบวงจร เพื่อการจัดฝึกอบรมแก่เกษตรกร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เป็นสถานที่ต่อยอดให้เกิดเป็นกลุ่มผู้ประกอบอาชีพใหม่ เป็นแหล่งสร้างอาชีพให้กับชุมชนและให้เป็นสถานที่เรียนรู้ของนักศึกษาสัตวแพทย์ สัตวบาล รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ทุกคนสามารถเข้ามาสัมผัสและเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกวางได้แบบครบวงจร จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาต่อยอด ทางบริษัทฯ จึงได้มีโครงการความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ด้านการวิจัยและพัฒนาถึง 6 โครงการด้วยกัน ได้แก่

1.โครงการพัฒนากระบวนการผลิตเลือดกวาง รกกวาง และเขากวางอ่อนอบแห้งแบบแช่แข็ง (Freeze dry Technology) เพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ โดยนักวิจัยจากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ  

2.โครงการออกแบบสายการผลิตเขากวางอ่อน เลือดกวาง และรกกวาง เพื่อการพาณิชย์ โดยนักวิจัยจากสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวท.)

3.ศึกษาเพื่อออกแบบผังแม่บทโครงการฟาร์มกวางและสวนป่าหนองเขื่อน โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ

4.การออกแบบและสร้างระบบการให้น้ำอัตโนมัติโดยใช้การพยากรณ์อากาศล่วงหน้า โดยนักวิจัยจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์

5.การออกแบบระบบอัตลักษณ์และบรรจุภัณฑ์โครงการสวนป่าหนองเขื่อน โดยศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ และ

6.โครงการออกแบบพัฒนาระบบพลังงานไฟฟ้าทดแทนด้วยหลักคาพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับการดำเนินกิจการในฟาร์มกวาง โดยนักวิจัยจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์

การดำเนินการทั้งหมดนี้เพื่อปูพื้นฐานเป็นแห่งเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวน และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tourism) ในอนาคต โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะเปิดตัวศูนย์การเรียนรู้กวางอย่างไม่เป็นทางการขึ้นประมาณปลายปี 2559 ซึ่งจะทำให้ศูนย์แห่งนี้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้กวางแบบครบวงจรแห่งแรกของไทย