การนำน้ำมาใช้ในการบริโภค สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องของสารปนเปื้อนหรือสารตกค้างและเชื้อโรค ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ประสบปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าและน้ำสะอาด อาจไม่ปลอดภัยหากนำมาใช้อุปโภคและบริโภค ทำให้ประสบปัญหาโรคท้องร่วงหรือโรคทางเดินอาหารได้
ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า เนื่องจากในชุมชนห่างไกลที่อยู่ต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่ระบบสาธารณูปโภค เช่น น้ำประปา หรือไฟฟ้า ยังเข้าไม่ถึง เช่น บ้านโปงลึก-บางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ต้นลำน้ำเพชรบุรี ชุมชนแห่งนี้จะบริโภคน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี โดยทั่วไปน้ำจะใส ยกเว้นในฤดูฝนที่น้ำจะขุ่นเนื่องจากการพัดพาตะกอนจากภูเขา แม้ว่าน้ำที่ใช้จะดูใส แต่อาจไม่ปลอดภัยหากนำมาบริโภค ทางคณะฯได้เก็บตัวอย่างน้ำ ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่า แหล่งน้ำอาจปนเปื้อนสิ่งปฏิกูล เนื่องจากตรวจพบจุลินทรีย์ที่บ่งชี้ว่าอาจก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร เช่น อี.โคไล สูงกว่า 2,000 โคโลนีต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร (โคโลนี เป็นจำนวนของอีโคไล) ที่ผ่านมายังไม่พบว่าชาวบ้านประสบปัญหาจากการอุปโภค-บริโภคน้ำโดยตรง เช่น ท้องร่วง หรือโรคทางเดินอาหาร แต่เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการรับสารปนเปื้อนในน้ำ และสะสมเป็นเวลานาน
ด้วยเหตุนี้ทางคณะฯ จึงได้จัดทำ ‘ชุดกรองน้ำโดยนำวัสดุจากธรรมชาติ’ ที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นมาผลิตและคู่มือวิธีสำหรับการผลิตน้ำสะอาดจากลำธารเพื่อการบริโภคขึ้น เพื่อนำไปเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้พื้นฐานเบื้องต้นแก่ชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ เนื่องจากชุมชนดังกล่าวมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านมีทักษะพื้นฐานในการผลิตเครื่องกรองน้ำใช้เองในระดับครัวเรือน โดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งก่อให้เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์ และทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต
สำหรับชุดกรองน้ำดื่มจากวัสดุธรรมชาตินี้ ประกอบด้วย ตัวกรอง 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นกรวด ทราย ถ่าน และเซรามิคหรือกระถาง โดยกรวดจะเป็นตัวกรองชั้นบนสุด สามารถหาได้ทั่วไปจากบริเวณริมแม่น้ำลำธาร กรวดจะสามารถกำจัดอนุภาคที่มีขนาดใหญ่ เช่น เศษใบไม้ และตะกอนขนาดใหญ่ ถัดลงมาเป็นชั้นทรายละเอียด จะช่วยกำจัดอนุภาคที่มีขนาดเล็ก ขณะที่ตัวกรองถ่าน ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษหรือสารตกค้าง ช่วยกำจัดสีและกลิ่น โดยน้ำที่ผ่านตัวกรองทั้ง 3 ชั้นดังกล่าว แม้จะสามารถนำไปใช้อุปโภคหรือชำระล้างต่างๆ ได้ แต่หากต้องการนำน้ำไปบริโภคหรือดื่ม จะต้องผ่านตัวกรองชั้นที่ 4 คือ ไส้กรองเซรามิค หรือกระถาง ทำหน้าที่ในการกักเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี ดังนั้น มั่นใจได้ว่า น้ำที่ผ่านการกรองทั้ง 4 ชั้นดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ดื่มหรือบริโภคได้อย่างปลอดภัยปราศจากเชื้อโรค
ผศ.ดร.ธิดารัตน์ กล่าวว่า “สิ่งสำคัญสำหรับการนำน้ำมาใช้ในการบริโภคนั้น คือ เรื่องของสารเคมีตกค้าง และเชื้อโรค ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อผลิตน้ำเพื่อใช้อุปโภคต้องกำจัดสารเคมีตกค้าง จึงต้องกรองด้วยถ่าน แต่น้ำยังมีจุลินทรีย์หลงเหลืออยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย แต่สำหรับน้ำบริโภคจะต้องปราศจากจุลินทรีย์ โดยเฉพาะ E.coli จึงจำเป็นต้องกรองด้วย ไส้กรองเซรามิคหรือกระถางดินเผาที่หาได้จากธรรมชาติ
ตัวอย่างน้ำที่เก็บจากในพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย เมื่อผ่านตัวกรอง 3 ชนิดข้างต้นแล้ว เราพบว่า อาจยังมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ และ อี.โคไลในระดับที่ไม่อันตราย เพียง 3 โคโลนี ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร แต่เมื่อน้ำผ่านไส้กรองเซรามิคซึ่งภายในเนื้อเซรามิคมีรูพรุนขนาดเล็กมากระดับไมโครมิเตอร์ จะสามารถกรองจุลินทรีย์ได้ทั้งหมด จึงค่อนข้างมั่นใจว่าน้ำนั้นสามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย”
สำหรับกำลังการผลิตน้ำของชุดกรองน้ำจากวัสดุธรรมชาติขนาดเล็กเหมาะสำหรับครัวเรือนต้นแบบชุดนี้สามารถผลิตน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคหรือใช้ชำระล้างได้ในอัตราความเร็วที่ 60 ลิตรต่อชั่วโมง และ 1 ลิตรต่อชั่วโมงสำหรับน้ำดื่ม อย่างไรก็ตามชุดกรองน้ำด้วยวิธีการแบบง่ายๆ และไม่ยุ่งยากนี้สามารถนำไปขยายขนาดเพื่อให้มีกำลังผลิตมากขึ้นได้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกพื้นที่ที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่ม หรือในพื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าใช้ เพราะเป็นวิธีการกรองและผลิตน้ำสะอาดตามหลักวิชาการโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าและสามารถใช้วัสดุที่หาได้ในพื้นที่