เนื้อหาวันที่ : 2015-12-24 09:26:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1917 views

สวทช. โดยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดสัมมนาเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดสัมมนา “การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร” หนึ่งในกิจกรรมยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่เป้าหมายไทยแลนด์ฟู๊ดวัลเลย์ (Thailand Food Valley: TFV) (กรุงเทพมหานคร) ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ระหว่างวันที่ 23-24 ธ.ค. 2558 ณ โรงแรมวินเซอร์ กรุงเทพฯ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร แปรรูป และที่เกี่ยวข้องกว่า 100 ราย ในเรื่องนวัตกรรม มาตรฐานความปลอดภัย การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การทำการตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมตั้งเป้าคัดวิสาหกิจที่มุ่งมั่น ตั้งใจ และมีศักยภาพใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างน้อย 10 รายเข้าสู่โครงการฯ เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกจนพัฒนาเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันต่อไป

นางวิไลภรณ์ แช่มประสิทธิ์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนอุตสาหกรรมอาหาร กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 2 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็น 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ภาครัฐจะผลักดันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีเป้าหมายที่จะใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมไทย โดยรัฐบาลกำหนดเป็นแผนการพัฒนาที่มุ่งเน้นเฉพาะด้าน เช่น โครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ ที่บูรณาการความร่วมมือหลายภาคส่วน มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณการผลิตด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งอาศัยการเชื่อมโยงระหว่างคลัสเตอร์ที่เข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 มีส่วนในการนำผลงานวิจัย/เทคโนโลยีต่างๆ มาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์/มีมูลค่าเพิ่ม จนเกิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบไม่น้อยกว่า 500 ผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างนำเสนอร่างยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ พ.ศ.2559-2564 ให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติพิจารณา เพื่อเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่ครัวโลก ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็น Center of Asia for Food Innovation and Value Added Agricultural Products ซึ่งได้กำหนดทิศทางการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารและการบริการด้านอาหารอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ที่มีความปลอดภัยและสุขอนามัยสูง

ด้าน นางสาวพีชยา จิระธรรมกิจกุล ผู้จัดการงานอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และสุขภาพ ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (ITAP) สวทช. กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่เป้าหมาย TFV ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เป็นโครงการที่นำผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอด เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ สามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในพื้นที่เป้าหมาย เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพในการผลิต ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่ม มีความโดดเด่น ทั้งด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และมีกลไกในการถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการด้วยบริการที่ปรึกษา ผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ ITAP  ดำเนินการโครงการ โดยในการดำเนินงานเริ่มต้นจากการจัดสัมมนาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหาร ให้กับกลุ่ม SMEs ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร รวม 2 วัน และจะมีการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความมุ่งมั่นและมีศักยภาพในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 10 ราย โดยทีมที่ปรึกษาจะให้คำปรึกษาเชิงลึกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม และคัดเลือกผลงานเด่นอีกจำนวนหนึ่ง นำไปพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่และนำไปทดสอบตลาดจริงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและขยายช่องทางการตลาด

สำหรับ สวทช. มีพันธกิจหลักมุ่งสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการในภาคการผลิตและบริการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ผ่านบริการต่างๆ อาทิ การร่วมวิจัย รับจ้างวิจัย และการให้คำปรึกษา เพื่อให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ที่จะช่วยให้ผลประกอบการดีขึ้น ยกระดับรายได้และเติบโตอย่างยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจรวม โดย สวทช. มีกลไกสำคัญในการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้ใช้ ด้วยบริการที่ปรึกษาและสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิต ซึ่งจะให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยี และแก้ไขปัญหาภาคอุตสหกรรม ผ่านทางโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ Innovative & Technology Assistance Program (ITAP) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารจัดการโครงการวิจัยพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในระดับสูง และมีเครือข่ายเชื่อมโยงที่ดีกับผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากสถาบันศึกษาต่าง ๆ