นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ SMEs (Turn Around) ภายใต้งบประมาณ 630 ล้านบาท เพื่อช่วยเอสเอ็มที่กำลังมีปัญหา 17,000 ราย ให้สามารถปรับตัวมาประกอบธุรกิจต่อไปได้ ว่า กลุ่มเป้าหมายของโครงการจะเป็นภาคการผลิต จำนวน 7,000 กิจการ ซึ่งมีกระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบ ส่วนภาคการค้าและบริการ มีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยส่วนใหญ่เน้นกลุ่มลูกค้าธนาคารของรัฐ
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้เร่งรัดการดำเนินโครงการ SMEs turn around โดยล่าสุดได้แต่งตั้งคณะทำงานย่อยระดับจังหวัด เพื่อร่วมกันพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 7,000 กิจการจากทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมโครงการฯ นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังทำหน้าที่ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย โดยทุกจังหวัดจะมีการแต่งตั้งคณะทำงาน จำนวน 1 ชุด เพราะนอกจาก รู้ เข้าใจสภาพปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดีแล้ว ยังใกล้ชิดและสามารถเข้าถึง SMEs ที่ประสบปัญหาอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เพื่อคัดเลือกรายที่มีปัญหาจริงเข้ากระบวนการพลิกฟื้นธุรกิจผ่านโครงการ
“ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประชุมชี้แจงแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบโดยทั่วกันแล้ว โดยคณะทำงานย่อยระดับจังหวัด จะมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงินคือผู้จัดการ SME Bank รวมทั้งผู้แทนจากภาคเอกชน เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ร่วมด้วย โดยในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้จะมีพิธีเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเรียนเชิญรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) มาเป็นประธานในพิธี ซึ่งตอนนี้มีผู้ประกอบการแจ้งยืนยันเข้าร่วมแล้วกว่า 800 คน” นายอาทิตย์ กล่าว
นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในเบื้องต้นโครงการ SMEs turn around ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการด้วยแนวคิดหลักของโครงการ 2 ข้อ คือ 1.ช่วย SMEs ที่มีปัญหา ฝ่าวิกฤต 2. การพลิกฟื้นไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน จึงทำให้มีการสอบถามมาที่กรมฯ เป็นจำนวนมาก เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจ และการบริโภคที่ชะลอตัว ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีไม่มากก็น้อย กสอ.จึงต้องตั้งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการให้มีความชัดเจน และการรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ จะเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และที่กระทรวงอุตสาหกรรมส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ยังเปิดรับสมัครแบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ คือ www.ช่วยเอสเอ็มอี.com ยืนยันว่าขณะนี้มีความพร้อมเต็มที่
โครงการดังกล่าวถือเป็นการบูรณาการหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่รอบด้าน เมื่อพบปัญหาของกิจการแล้ว จะมีกระบวนการแก้ไขและปรับตัว โดยจะเชื่อมโยงและส่งต่อให้หน่วยงานที่ดูแลเฉพาะด้าน ไม่จำกัดแค่กระทรวงอุตสาหกรรม เช่น ด้านการตลาด-กระทรวงพาณิชย์ นวัตกรรม-กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเงิน-ธนาคาร เป็นต้น”
สำหรับหลักเกณฑ์คัดเลือกผู้ประกอบการที่ กสอ.กำหนดไว้ ประกอบด้วย 1.เป็นกิจการที่ประสบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในรอบ 6 เดือน มียอดขายหรือกำไรลดลง โดยพิจารณาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าสาธารณูปโภค ยอดการสั่งซื้อ-ขายวัตถุดิบ ฯลฯ 2.เป็นนิติบุคคล/มีการจดทะเบียนการค้า 3.มีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทย ร้อยละ 51 ขึ้นไป 4.ดำเนินธุรกิจ 3 ปีขึ้นไป 5.มีที่ตั้งโรงงานอยู่ในจังหวัดที่ยื่นใบสมัคร 6.ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย 7.ไม่เป็นกิจการในเครือข่ายของบริษัทแม่ 8.เป็นธุรกิจที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม
ที่มารูปและเรื่อง : กระทรวงอุตสาหกรรม