สศอ. เชิญผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ร่วมระดมความเห็นต่อแนวทางการพัฒนา “อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล” หรืออุตสาหกรรมการผลิตสารสกัดธรรมชาติจากปาล์มน้ำมันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งแนวทางการให้สิทธิประโยชน์และมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุนญี่ปุ่น จีน และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ระดับโลก ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนซุปเปอร์คลัสเตอร์ในเขตภาคใต้
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม(อก.)ในฐานะคณะอนุกรรมการพัฒนาโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มซึ่งมีสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ และที่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งขาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย กนป. มีมติมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดำเนินการสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากปาล์มน้ำมัน และพิจารณาแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิประโยชน์และมาตรการทางภาษี รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนลักษณะ Cluster ในเขตภาคใต้ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
นายอาทิตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเทคโนโลยีด้านการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรของไทยส่วนใหญ่ ยังเป็นการผลิตที่ไม่สลับซับซ้อน ประกอบกับวิทยาการด้านการผลิตสินค้าทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมได้เจริญก้าวหน้าและเกิดนวัตกรรมในการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคใหม่ๆ ซึ่งไทยควรสร้างโอกาสในการเพิ่มขีดความ สามารถด้านการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรด้วยการปรับแต่งเทคโนโลยีและการถ่ายทอดไปสู่กลุ่มผู้ผลิต เพื่อเป็นทางเลือกด้านการผลิตจากผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคขั้นต้นไปสู่ผลิตภัณฑ์ตั้งต้นในภาคอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ปัจจุบันการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในส่วนของเคมีภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าสำคัญ ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะผลิตได้โดยเฉพาะสารเคมีที่สกัดหรือสังเคราะห์ได้จากกรดไขมันต่างๆ ที่ผลิตจากพืชกลุ่มที่ให้น้ำมัน โดยเฉพาะสินค้าปาล์มน้ำมันที่ผ่านมา พืชดังกล่าวได้ถูกนำไปแปรรูปเพื่อการบริโภค อาหารสัตว์ และพลังงานทดแทนเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่การนำไปใช้ประโยชน์ โดยนำไปผลิตในอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล หรืออุตสาหกรรมการผลิตสารสกัดธรรมชาติจากพืชกลุ่มที่ให้น้ำมัน (คือการแปรสภาพผ่านกระบวนการทางชีวภาพร่วมกับกระบวนการทางเคมีในพืชกลุ่มที่ใช้นำมัน) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยการใช้ประโยชน์จากสารต่างๆ ที่มีอยู่ในน้ำมันปาล์มดิบและเมล็ดในปาล์ม ได้ถูกทำลายไปในกระบวนการผลิต และปะปนอยู่ในกากอาหารสัตว์ที่มีมูลค่าต่ำ ดังนั้น ในการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลให้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง จึงยังไม่มีนโยบายในการพัฒนาและส่งเสริมที่ชัดเจน ประกอบกับต้องใช้เงินลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีการผลิตระดับสูง ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจให้กับนักลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แม้ว่าผลิตภัณฑ์จะมีมูลค่าเพิ่มสูง
กระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลที่สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่การผลิต (Value Chain) ของปาล์มน้ำมัน เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาผลิตผลทางการเกษตร สร้างทางเลือกให้กับเกษตรกร และทดแทนการนำเข้าเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนยกระดับเทคโนโลยี และสร้างนวัตกรรมให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป
การจัดสัมมนาครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะได้รับทราบข้อมูลใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างผู้มีประสบการณ์ตรงต่อแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลแล้ว อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลยังเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย ซึ่งต้องมีความชัดเจนในเรื่องของนโยบายทั้งในด้านวัตถุดิบ ด้านมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนทางการเงิน ด้านการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการทางภาษี ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและการค้นคว้าวิจัย กระบวนการผลิตและทดสอบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งความต้องการของผู้บริโภค และตลาดต่างประเทศ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสร้างบรรยากาศของการผลิต การค้าและการลงทุน เพื่อส่งผลให้เกิดการผลิตและสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลได้เติบโตและพัฒนาต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมเกษตรขั้นพื้นฐาน เกิดประโยชน์สะท้อนกลับไปหาเกษตรกรผู้เพาะปลูกได้ โดยการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของทรัพยากรของประเทศได้อย่างยั่งยืน ข้อมูลจากการสัมมนาสามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนธุรกิจและเป็นแรงผลักดันให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันของไทยส่วนใหญ่จะมีเพียง 2 ส่วนคือ การนำไปใช้ด้านอุปโภคบริโภค และการนำไปใช้ด้านพลังงาน จึงเห็นควรเพิ่มส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม โอลิโอเคมิคอล หรืออุตสาหกรรมการผลิตสารสกัดธรรมชาติจากปาล์มน้ำมันให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โดยมีผลิตภัณฑ์สารสกัดจากน้ำมันปาล์มเป้าหมายคือ สารแคโรทินอยด์ สารโทโคเฟอรอล และ สารโทโคไตรอินอล ที่มาจากการสกัดสารสีส้มในน้ำมันปาล์มดิบจากส่วนเนื้อนอกของผลปาล์มสด (CPO) และผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมิคอลจากการใช้เมล็ดในปาล์มเป็นวัตถุดิบนำไปสกัดให้ได้กรดไขมัน เช่น กรดลอลิก และกรดไมริสติก
ปัจจุบันสารโอลิโอเคมีและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลได้ถูกนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมเส้นใยและสิ่งทอ และนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ชีวิตประจำวัน อาทิ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สบู่ ครีมทาผิว พลาสติก สารเคลือบเงา สารหล่อลื่น เป็นต้น
แนวโน้มอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลในตลาดโลก คาดว่ามีอัตราการขยายตัวสูงต่อเนื่องจากปี 2556-2561 ถึงร้อยละ 6 ในขณะที่ตลาดเอเชียจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 8.2 โดยประเทศไทยมีการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการผลิตโอเลโอเคมิคอลโดยผู้ผลิตเพียงไม่กี่ราย จึงเป็นโอกาสใหม่ที่โรงงานสกัดแบบแยกน้ำมันเมล็ดในของผลปาล์ม น่าจะเข้ามาเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลเพิ่มได้อีก และในการวิเคราะห์ทางการเงิน พบว่า มูลค่าการลงทุนโครงการปัจจุบัน และอัตราผลตอบแทนการลงทุนจากการนำน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันเมล็ดในปาล์มไปผลิตเป็นกรดไขมัน ให้ผลที่คุ้มค่าสูงกว่าการผลิตเป็นสารสกัดเพื่อไปใช้เป็นน้ำมัน ไบไอดีเซล
นอกจากนี้แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลของประเทศไทย มีโอกาสที่ผู้ประกอบการของไทยที่มีศักยภาพจะเข้าสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลด้วยการใช้กลไกการร่วมลงทุน (Joint Venture) กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก โดยเฉพาะผู้ผลิตจากญี่ปุ่น จีน และประเทศที่เป็นผู้ผลิตที่ไม่มีวัตถุดิบ ซึ่งภาครัฐควรสนับสนุนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในการชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ
สศอ. จึงจัดสัมมนาดังกล่าวขึ้นเพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล และระดมความคิดเห็นให้ผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมัน ทั้งส่วนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ โรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ภาคเอกชน ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พร้อมฟังความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากปาล์มน้ำมันได้อย่างยั่งยืน