ไฟฟ้านับเป็นตัวแปรที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ใช้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ สร้างมูลค่าให้แก่การส่งออก นำเงินตราเข้าประเทศ การนำไฟฟ้าไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรมการผลิต จึงจำเป็นต้องใช้แรงดันกระแสไฟฟ้าที่มีค่ามาตรฐานการวัดที่แม่นยำสูง สามารถให้พลังไฟฟ้าที่ตอบสนองต่อการทำงานของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในสายการผลิตได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นการวัดแรงดันไฟฟ้าที่มีความแม่นยำสูงและได้มาตรฐานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในสายการผลิตทางภาคอุตสาหกรรม
กระทรวงวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีภาระกิจหลักในการให้คำแนะนำ เกี่ยวกับการใช้ การเก็บรักษา การสอบเทียบ การซ่อมบำรุง เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการวัดเพื่อให้เกิดความแม่นยำสูง และพัฒนาระบบมาตรวิทยาของชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ได้ร่วมมือกับ สำนักงานชั่งตวงวัด ระหว่างประเทศ (International Bureau of Weights and Measures :BIPM) ประเทศฝรั่งเศส ในการดำเนินการเปรียบเทียบผลการวัดมาตรฐานปฐมภูมิแรงดันไฟฟ้า ณ ห้องปฏิบัติการณ์ไฟฟ้า มว. เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพด้านการวัดแรงดันไฟฟ้ากระแสตรง ให้เกิดการสะท้อนผลการวัดที่แม่นยำสูงสุด ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งที่ผ่านมาห้องปฏิบัติการไฟฟ้ากระแสตรง ฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า มว. ได้ดำเนินการติดตั้งและพัฒนาระบบการวัดมาตรฐานปฐมภูมิแรงดันไฟฟ้าโจเซฟสัน (Josephson Junction Voltage Standard: JJVS) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2548 จนสามารถทำการสถาปนาเป็นมาตรฐานปฐมภูมิทางด้านแรงดันไฟฟ้ากระแสตรงสำเร็จ ซึ่งทางมว.ได้มีการวางแผนในการพัฒนาศักยภาพมาตรฐานปฐมภูมิให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยการเข้าร่วมเปรียบเทียบผลการวัดกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติของประเทศอื่นๆ ที่เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ตามวัตถุประสงค์ของข้อตกลงระหว่างประเทศ ว่าด้วยการยอมรับร่วมในด้านมาตรวิทยา (Mutual Recognition Arrangement: MRA) ซึ่ง MRA นี้เป็นการยอมรับซึ่งกันและกันในผลการวัด การตรวจสอบ และการรับรองที่มีผลกระทบโดยตรงกับภาคการผลิตในประเทศ รวมถึงการค้าระหว่างประเทศ ห้องปฏิบัติการไฟฟ้ากระแสตรง (มว.) จึงเข้าร่วมการเปรียบเทียบผลการวัดแรงดันไฟฟ้ากระแสตรง กับ สำนักงานชั่งตวงวัด ระหว่างประเทศ (BIPM) ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พ.ย. 2558 ณ. ห้องปฏิบัติการไฟฟ้ากระแสตรง มว. เพื่อสร้างหลักประกันคุณภาพด้านมาตรวิทยาไฟฟ้าของมว.และนำไปสู่การเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
โดยการผ่านเกณฑ์การวัดในครั้งนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตที่สูงขึ้น ส่งเสริมอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ เนื่องจากสามารถวัดกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงและได้มาตรฐานที่นานาชาติยอมรับ เพื่อปูทางให้แก่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับนาโนเทคโลยีที่ต้องใช้มาตรฐานการวัดที่ซับซ้อน เป็นการพัฒนามาตรฐานปฐมภูมิไปสู่ระดับสากล ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการที่จะก้าวไปเป็นศูนย์กลางทางการวัดแห่งภูมิภาคเอเชียในอนาคต
ที่มา: กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี