กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งดันผู้ประกอบการไทยบุกตลาดเกิดใหม่(Emerging Markets)กลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตของ GDP สูงขึ้นร้อยละ 3-5ซึ่งสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยนำร่องอุตสาหกรรมที่มีความต้องการของกลุ่มประเทศดังกล่าว อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ฯลฯผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster) กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โครงการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถส่งออกในอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมจากทั่วโลก เนื่องจากสินค้าดีมีคุณภาพ แต่ผู้ประกอบการไทยยังคงยึดติดกับประเทศคู่ค้าเดิม ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหญ่ อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ ขณะที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EmergingMarket)อย่าง อินเดีย อิหร่าน แอฟริกาใต้ ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย โดยพิจารณาจากอัตราการเติบโตของ GDP ในช่วง 5 ปีนี้ (2556-2560) สูงขึ้นร้อยละ 3-5 และได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกไม่มากนัก เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศมีความเข้มแข็งทางการรวมกลุ่มในภูมิภาคเดียวกันและมีกำลังซื้อสูง หากได้คู่ค้าจากหนึ่งประเทศในกลุ่มนี้ก็มีโอกาสขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆในกลุ่มเดียวกันได้ ประกอบกับประเทศเหล่านี้ยังขาดแคลนวัตถุดิบ และขาดแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ขณะที่ความต้องการสินค้ายังมีอยู่มากส่งผลให้ต้องการนำเข้าสินค้าสูง
ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เห็นโอกาสในการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรม SMEs ไทย โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคการผลิตตื่นตัวและหันมาสนใจผลิตสินค้าตอบโจทย์ตลาดเกิดใหม่ ซึ่งมี 3กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในกลุ่มตลาดดังกล่าวได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ซึ่ง 3 อุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ด้านการค้าการลงทุน เพื่อให้ภาคการผลิตของไทยสามารถแข่งขันได้ โดยยกเว้นภาษีสูงสุด15 ปี ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลและให้การส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะภาค SMEs ในกลุ่มซูเปอร์คลัสเตอร์ดังกล่าว ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster) กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โครงการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยจะเน้นการพัฒนาครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิต การเชื่อมโยงกับผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป สถาบันวิจัย และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อสร้างกลุ่มคลัสเตอร์ให้แข็งแรงขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมในด้านการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต การตลาด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อการลดต้นทุนการผลิต การสร้างโอกาสในการขยายตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยได้อย่างมีศักยภาพและยั่งยืน
ดร.สมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตลาดเกิดใหม่ที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย ได้แก่แอฟริกาใต้ ซึ่งมีจำนวนประชากรกว่า 50 ล้านคน และเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของโลกไม่มากนัก อีกทั้งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 23 ของไทยในระดับโลกยิ่งไปกว่านั้นแอฟริกาใต้ยังเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มบริคส์ (BRICS) (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และยังเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคแอฟริกาซึ่งมีประชากรรวมกว่าพันล้านคนนอกจากนี้ยังมีภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียใต้ที่มีความน่าสนใจไม่น้อยในแง่ของการเข้าไปเปิดตลาด อาทิ อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี อิหร่าน อียิปต์ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นหนึ่งในสมาชิกโอเปก ที่มีรายได้หลักมาจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ศักยภาพในการผลิตเพื่อการบริโภคยังไม่เพียงพอ จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายตลาดเพื่อป้อนเข้าสู่ประเทศเหล่านี้มากขึ้น
ที่ผ่านมาจากเหตุการณ์ที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทั้งในด้านสภาวะค่าเงินที่แข็งและอ่อนตัว ส่งผลให้ GDP ของไทยเติบโตเพียงร้อยละ 2-3 และส่งผลต่อการส่งออกที่ขยายตัวลดลงโดยในช่วงไตรมาสที่ 1-3 (เดือนมกราคม-กันยายน) ที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 161,563 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.98 (ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร) ทั้งนี้ ในมูลค่าการส่งออกดังกล่าวประเทศไทยมีการส่งออกไปยังประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักรวมกว่า 48,182 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 29.8 ของการส่งออกของไทยทั้งหมด ในขณะที่ส่งออกไปประเทศตลาดเกิดใหม่เพียงร้อยละ 19 หรือประมาณ 30,623 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ)ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายธงชัย อุพันวัน กรรมการผู้จัดการ บริษัทไฟว์สตาร์ ออโต้พาร์ท จำกัด (โชว์จุ่งกรุ๊ป) ผู้ผลิต จำหน่าย และบริการเกี่ยวกับช่วงล่างลูกหมากรถยนต์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตองสาม” (333) และ ซีเจ จีเนี่ยนพาร์ท (CJ) กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าหลักของไฟว์สตาร์มีทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นสัดส่วนร้อยละ 80และ 20 ตามลำดับ โดยต่างประเทศจะเน้นภูมิภาคเอเชียใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศอียิปต์ที่มีสัดส่วนส่งออกสูงสุดถึงร้อยละ 70 เนื่องจากตลาดอียิปต์นิยมเปลี่ยนอะไหล่เอง เพราะรถส่วนมากที่ใช้เป็นรถเก่าไม่นิยมนำเข้ารถทั้งคัน และจากการสอบถามลูกค้าอียิปต์มีความมั่นใจสินค้าไทยที่คุณภาพมาตรฐานสูงโดยวางแผนจะผลักดันยอดการส่งออกให้มากขึ้นเป็นร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี รวมถึงจะมุ่งไปที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่(Emerging markets) ร้อยละ 30 เนื่องจากหลังจากที่เริ่มไปทำตลาดได้ระยะหนึ่งก็มองเห็นช่องว่างในการเข้าไปทำการตลาดในกลุ่มประเทศดังกล่าวที่ยังมีคู่แข่งน้อย ขณะที่ความต้องการของผลิตภัณฑ์ยังคงมีมากได้โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์อะไหล่ทดแทนในอุตสาหกรรมยานยนต์ สาเหตุจากภูมิประเทศของกลุ่มประเทศเหล่านี้ส่วนมากสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างถนนยังไม่พัฒนาเท่าที่ควรทำให้ส่งผลต่ออายุการใช้งานของรถยนต์ จึงเป็นโอกาสดีที่จะขยายตลาดเพื่อครองส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มประเทศดังกล่าวให้มากขึ้น
นายธงชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท ได้แก่ ลูกหมากคันชัก ปีกนก กล้องยา คันส่ง ลูกสูบดิสเบรค และอื่นๆอีกกว่า 3,000 รายการซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ทั่วประเทศ เนื่องจากบริษัทมีการทดสอบชิ้นส่วนอะไหล่ทุกชิ้นอย่างเข้มงวดทั้งก่อนและหลังการผลิต และมีการติดตามผลการใช้งานจริง อย่างไรก็ตามไฟว์สตาร์ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยมีโอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster) ชิ้นส่วนยานยนต์กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็ได้พบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพสูง เพื่อรองรับความต้องการของทางตลาดชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเติบโตอย่างยั่งยืน คือการที่เรารวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ทำให้ได้พันธมิตรทางธุรกิจ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนได้ฐานลูกค้ามากขึ้นและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจโครงการต่างๆของกรมส่งเสริมเสริมอุตสาหกรรมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-17 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr
ที่มารูปและเรื่อง : กระทรวงอุตสาหกรรม