นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ. ) เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิตในภาคอุตสาหกรรมเนื่องมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และค่านิยมการเรียนระดับปริญญา และในอนาคตคาดว่าการขาดแคลนแรงงานจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติกลับประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว และโอกาสการจ้างงานในประเทศต้นทางมีมากขึ้นจากการขยายตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต้นทาง
เมื่อพิจารณาจำนวนแรงงานต่างชาติในประเทศไทยในปี 2557 จะพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (นับจากปี 2547 – ปี2557) ประเทศไทยมีแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 974,143 คน เป็น 1,339,834 คน คิดเป็นร้อยละ 37.54 การที่มีแรงงานต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย อยู่ในระดับสูงโดยเปรียบเทียบ เห็นได้จากจำนวนแรงงานต่างชาติที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2556 – 2557 ซึ่งมีแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.18 เนื่องจากนโยบายขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ที่ประกาศใช้ทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 และเมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างแรงงานของประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนจากค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน พบว่าประเทศไทยมีค่าจ้างแรงงานสูงเป็นอันดับสอง โดยอันดับแรก คือ สิงคโปร์ ซึ่งมีค่าจ้างอยู่ที่ 32.2-129.9 ดอลลาร์สหรัฐ อันดับสอง คือ ประเทศไทยมีค่าจ้างอยู่ที่ 8.8 ดอลลาร์สหรัฐ อันดับสามคือ มาเลเซีย มีค่าจ้างอยู่ที่ 7.3-8.1 ดอลลาร์สหรัฐ และประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำสุด คือ เมียนมาร์ มีค่าจ้างอยู่ที่ 0.8 - 1.2 ดอลลาร์สหรัฐ
การที่ประเทศไทยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศอาเซียนทำให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก โดยแรงงานสัญชาติลาว เมียนมาร์ กัมพูชา มีสัดส่วนมากที่สุด คือ ร้อยละ 87.89 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด และแรงงานต่างชาติเกินกว่าครึ่งเข้ามาเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 6,184,926 คน เป็นแรงงานต่างชาติ771,118 คน แบ่งเป็นแรงงานวิชาชีพ 11,068 คน และแรงงานฝ่ายผลิต 760,049 คน อุตสาหกรรมที่มีแรงงานต่างชาติมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาเป็นแรงงานฝ่ายผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตยางและพลาสติก และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย รวมทั้งการตกแต่งและย้อมสีขนสัตว์ มีแรงงานจำนวน 286,702 คน 105,449 คน และ 65,922 คน ตามลำดับ
ถึงแม้ว่าจะมีแรงงานต่างชาติอยู่ในฝ่ายผลิตจำนวนมาก แต่ภาคอุตสาหกรรมของไทยก็ยังคงขาดแรงงานฝ่ายผลิต 34,716 คน และหากไม่นับการจ้างงานต่างชาติ ภาคอุตสาหกรรมไทยจะขาดแรงงานงานฝ่ายผลิตประมาณ 794,765 คน อุตสาหกรรมที่มีการขาดแคลนแรงงานการผลิตมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์จากโลหะประดิษฐ์ยกเว้นเครื่องจักรและอุปกรณ์ รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย รวมทั้งการตกแต่งและย้อมสีขนสัตว์ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม
แรงงานฝ่ายผลิตที่เป็นแรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีฝีมือคิดเป็นร้อยละ 95 ของแรงงานฝ่ายผลิตทั้งหมด ขณะที่แรงงานต่างชาติในฝ่ายผลิตมีแรงงานที่มีฝีมือและไร้ฝีมือในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน หากพิจารณาดูจากอายุของแรงงานฝ่ายผลิต จะพบว่าแรงงานฝ่ายผลิตที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ ทำให้ในอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานดังกล่าวเนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 255,888 คน เมื่อรวมกับปัจจุบันที่ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานจำนวน 34,716 คน และมีแนวโน้มที่แรงงานต่างชาติจะย้ายกลับประเทศจำนวน 91,205 คนแล้ว จะทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้าภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นรวม 381,809 คน ซึ่งหากไม่นับการจ้างงานต่างชาติในระบบ ภาคอุตสาหกรรมไทยจะขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 1,015,938 คน
จากความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมไทยยังต้องพึ่งพึงแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติของแรงงานแต่ละชาติ แรงงานไทยมีคุณสมบัติโดยรวมที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด ขณะที่แรงงานเมียนมาร์มีค่าจ้างแรงงานต่ำ มีความขยันอดทน และใฝ่เรียนรู้มากที่สุด จุดเด่นของแรงงานไทย คือ สามารถทำงานเป็นทีมและมีความคิดสร้างสรรค์ จุดด้อย คือ ค่าจ้างแรงงานสูง ในขณะที่แรงงาน เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จุดเด่น คือ มีความขยันอดทน แต่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ และจากการสอบถามความต้องการแรงงาน พบว่าแรงงานฝ่ายผลิตมีความต้องการแรงงานเมียนมาร์มากที่สุดทั้งในแรงงานมีฝีมือและไร้ฝีมือ
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่อุตสาหกรรมไทยขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิต จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ค่านิยมการเรียนระดับปริญญา และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติกลับประเทศนั้น ควรมีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว เช่น รัฐบาลควรหาแนวทางบริหารจัดการแรงงานนอกช่วงฤดูกาล ในภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาทักษะด้านภาษาที่ใช้สื่อสารกับแรงงานต่างชาติ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ปรับปรุงนโยบายด้านแรงงานต่างชาติให้ทันสมัยและชัดเจน เช่นอาชีพใดที่ควรสงวน และอาชีพใดที่ควรส่งเสริมให้ต่างชาติ รวมถึงการสร้างค่านิยม และปรับปรุงระบบการศึกษาไทยให้เด็กไทยเห็นความสำคัญในการศึกษาต่ออาชีวะ เช่น ปรับปรุงระบบการเรียนการสอน และใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ภาครัฐ และเอกชนควรร่วมมือกันปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างแรงงานอุตสาหกรรมไทยโดยลดความเลื่อมล้ำระหว่างค่าจ้างแรงงานระดับปริญญา และสายอาชีพ รวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาเส้นทางอาชีพ (Career Path) เพื่อดึงดูดให้เยาวชนหันมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น