เนื้อหาวันที่ : 2015-10-26 16:15:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1573 views

เดินหน้าขับเคลื่อน Carbon - Water Footprint ส่งผลลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 2 หมื่นตัน

สศอ.เร่งผลักดันพันธกิจอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม เริ่มจาก Carbon Footprint ล่าสุดเปิดโอกาสให้โรงงานเข้าร่วม  31 โรง ลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 23,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วน Water Footprint มีผู้เข้าร่วมโครงการในปีนี้เพิ่มอีก 25 โรงงาน  สามารถลดการใช้น้ำได้ 318,981.43 ลูกบาศก์เมตร

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ) เปิดเผยว่า ในจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมด้านผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปซึ่งมีกว่า 8,000 โรง เป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่ผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวจากกระทรวงอุตสาหกรรมมากกว่า 2,000 โรงงาน แต่เป็นโรงงานที่สามารถผลิตเพื่อส่งออกเพียงประมาณร้อยละ  10 เท่านั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเห็นเป็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบดำเนินการยกระดับผู้ประกอบการในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เหลือที่มีความสนใจ โดยโครงการนี้จะให้คำปรึกษาแนะนำเชิงเทคนิค รวมถึงการยกระดับองค์ความรู้ของบุคลากรในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทย สามารถลดปริมาณของเสียจากการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

โดยเฉพาะในด้านการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มผลิตภาพด้านการผลิต พัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิต ผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศ และลดข้อกีดกันทางการค้าแล้ว ยังจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจและข้อกีดกันทางการค้าจากตลาดโลก เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม และลดภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม

สศอ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมอาหารกับการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายภายใต้กรอบแผนแม่บทอุตสาหกรรมอาหารให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอย่างครบวงจรไปพร้อมกับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการอาหาร โดยการสนับสนุนงบประมาณให้สถาบันอาหาร ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เข้ามาเป็นที่ปรึกษาดำเนินการ

ผลจากการดำเนินโครงการ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่เข้าร่วมโครงการในปี 2558 จำนวน   31 โรงงาน มีแนวทางลดต้นทุนการผลิต และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต  ซึ่งหากได้ดำเนินการตามแนวทางที่แนะนำไว้ จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 23,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

และตลอดระยะเวลา 3 ปี สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ  โดยนำข้อมูลการคำนวณค่า Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ไปยื่นขึ้นทะเบียนเพื่อรับรอง Carbon Label กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 85 โรงงาน ซึ่งจะเป็นการเสริมภาพลักษณ์ให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทยได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังเป็นการยกระดับองค์ความรู้ในการประเมิน Carbon Footprint ให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมอาหารกว่า 550 คน รวมทั้งมีการเผยแพร่ความรู้การประเมิน Carbon Footprint สำหรับอุตสาหกรรมอาหารไปสู่ผู้ประกอบการในวงกว้างผ่านคู่มือและผ่านทางเว็บไซต์ของโครงการที่ http://www.nfi,or.th/carbonfootprint/

อีกหนึ่งภารกิจ ที่ สศอ. ผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารในด้านสิ่งแวดล้อม คือการยกระดับผู้ประกอบการตามแนวทางการประเมิน Water footprint ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้จัดการน้ำของผู้บริโภค หรือผู้ผลิต ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดย สศอ. ได้จัดทำโครงการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก โดยการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงเทคนิคแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารที่เข้าร่วมโครงการในปี 2558 จำนวน 25 โรงงาน นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ความรู้เรื่องดังกล่าวสู่วงกว้างผ่านเอกสารเผยแพร่ความรู้และคู่มือ ซึ่งสามารถ Download ข้อมูลดังกล่าวได้ทาง http://fic.nfi.or.th/waterfootprint/ รวมทั้งมีการจัดทำโปรแกรมประเมินค่า Water footprint ในรูปแบบ Web application ให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สนใจจะประเมินค่า Water footprint  ด้วยตนเอง ซึ่งสามารถเข้าใช้งานได้ที่ http://gittthai.com/WFP ตลอดจนจัดทำค่าอ้างอิง Water footprint ในผลิตภัณฑ์ปลาแมคเคอเรลในซอสมะเขือเทศ  สัปปะรดกระป๋องในน้ำเชื่อม และเบียร์ด้วย ซึ่งหากผู้ประกอบการดำเนินการตามการให้คำปรึกษาจะสามารถลดการใช้น้ำในภาพรวมได้ 318,981.43 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวย้ำว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารในประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรน้ำในการผลิต ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ ในการสนับสนุนให้กระบวนการ ด้าน Carbon footprint และ Water footprint ได้มีการนำไปใช้ในวงการอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างแท้จริง เพื่อรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ที่อาจถูกกำหนดเป็นมาตรการบังคับในอนาคต ตลอดจนเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้สูงกว่าประเทศคู่แข่ง รวมถึงสร้างการยอมรับให้กับอาหารของไทย ซึ่งมีส่วนในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น Kitchen of the World ในช่วงต่อไป