เนื้อหาวันที่ : 2007-07-19 09:18:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1384 views

"โฆสิต" มั่นใจลดดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ลดปัญหาเงินบาทแข็งค่า

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 มีผลกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชนซึ่งจะสร้างความมั่นใจทางด้านเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ประกอบกับการลงทุนทางด้านภาคอุตสาหกรรมที่มีมากขึ้น

โฆสิต  เผยกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ  0.25 ว่า  เรื่องนี้จะมีผลทางด้านการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชนที่ดอกเบี้ยลดลงแล้วจะออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความมั่นใจทางด้านเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ  จึงมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ  4 

.

นายโฆสิต  ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ  0.25 ว่า  เรื่องนี้จะมีผลทางด้านการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชนที่ดอกเบี้ยลดลงแล้วจะออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความมั่นใจทางด้านเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ  ประกอบกับการลงทุนทางด้านภาคอุตสาหกรรมที่มีมากขึ้น จึงมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าที่เคยระบุไว้ คือ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ  4  อย่างไรก็ตาม  การลดอัตราดอกเบี้ยนี้ก็จะมีผลทางอ้อมต่อค่าเงินด้วย  เพราะเมื่อมีการลงทุนมากการนำเข้าเครื่องจักรก็จะเพิ่มขึ้น แต่คงมีผลไม่มากนักไม่เท่ากับเรื่องความมั่นใจทางด้านเศรษฐกิจ 

.

ส่วนทิศทางดอกเบี้ยในอนาคตจะมีการปรับลดลงไปมากกว่านี้หรือไม่นั้น ทาง กนง. ก็คงจะมีการพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในการประชุมรอบต่อ ๆ ไป  ซึ่งในเรื่องการดูแลค่าเงินบาทนั้นทางรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังประสานงานดูแลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันทางภาคเอกชนก็ร่วมกันเสนอความเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยรูปแบบต่าง ๆ และทางสมาคมธนาคารไทยได้เสนอที่จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาของโรงงานทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก เพื่อช่วยดูแลทิศทางในการรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้น

.

ทั้งนี้  นายโฆสิต ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการปาฐกถาพิเศษ "รัฐบาลกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา" ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) โดยย้ำกับผู้ประกอบการว่าทุกฝ่ายต้องปรับตัวร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้จะไม่มีการนำเงินมาช่วยเหลือเหมือนกับรัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มา เพราะไม่ได้สร้างฐานความสามารถทางการแข่งขันที่แท้จริง แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องขอให้ภาคเอกชนร่วมคิดร่วมทำและร่วมเสนอแนะว่าอะไรจะเกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันต้องปรับโครงสร้างการผลิต และโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาให้เอสเอ็มอี  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องทำควบคู่กับการดูแลค่าเงินบาท  การเพิ่มนวัตกรรม โดยในส่วนภาครัฐนั้นได้เสริมสร้างความรู้การสร้างประสิทธิภาพการผลิตร่วมกับภาคเอกชน  สิ่งเหล่านี้จะเป็นฐานสำคัญในการแข่งขันได้ในอนาคต

.

ด้านนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ต้นสัปดาห์หน้าทางธนาคารกรุงเทพจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับการที่ กนง.ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่จะลดทั้ง 2 ขา หรืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้พร้อมกันหรือไม่ ขอพิจารณาเรื่องความเหมาะสมก่อน อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยก็จะมีผลทางอ้อมชะลอการแข็งค่าของเงินบาท แต่จากทิศทางเศรษฐกิจโลกและค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทในระยะปานกลางยังคงผันผวนต่อไป  ซึ่งทางสมาคมธนาคารไทยพร้อมเข้าไปร่วมแนะนำการปรับตัวของภาคการผลิตต่าง ๆ  อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการเงินที่จะแก้ไขความผันผวนได้ระยะหนึ่ง คือ ผู้ประกอบการควรจะทำประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและระยะยาวแล้วควรจะปรับตัว ปรับประสิทธิภาพการผลิตให้แข่งขันได้

.

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน  3 สถาบัน หรือ กกร.เสนอให้ธนาคารพาณิชย์รับฝากเงินในรูปเงินดอลลาร์หรือเงินตราต่างประเทอื่นนั้น ธนาคารพาณิชย์รวมทั้งกรุงเทพพร้อมดำเนินการตามข้อเสนอ หาก ธปท.เปิดทางให้ โดยดอกเบี้ยอัตราเงินฝากต่างประเทศจะเป็นเช่นไรคงจะต้องดูความเหมาะสมของแต่ละสกุลเงินนั้น ๆ เป็นหลัก

.
ที่มา : สำนักข่าวไทย