นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยหม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมร่วมกับผู้แทนจากยูเนสโก (UNESCO), ยูนิเซฟ (UNICEF),สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.), สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สต.สป.) เพื่อหารือแนวทางการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals : SDG) และการแก้ไขปัญหาการจัดเก็บข้อมูลทางการศึกษา เมื่อวันพุธที่ 21 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีโครงการด้านการศึกษาที่เน้นผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม สามารถปฏิบัติได้จริง และเห็นผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals : SDG) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ UNESCO ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ประกอบด้วยการพัฒนา 17 ประการ เช่น การขจัดความยากจน การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ และการดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของการศึกษามีประเด็น "การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ" รวมอยู่ด้วย
กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มอบให้ สต.สป. ไปหารือกับหน่วยงานต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และ สกศ.ในฐานะหน่วยงานหลักที่วางแผนด้านการศึกษาของประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินงานในการจัดทำรูปแบบการศึกษาที่มีคุณภาพให้สอดคล้องกับ SDG ต่อไป
ส่วนการประชุมในครั้งนี้ ได้หารือร่วมกันถึงการแก้ไขปัญหาการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ด้านการศึกษาเนื่องจากที่ผ่านมายังมีหลายหน่วยงานต่างจัดเก็บข้อมูล ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน ที่ประชุมจึงเห็นว่า สกศ.ควรเป็นหน่วยงานหลักในการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ด้านการศึกษา โดยขอให้ สกศ.จัดวางระบบการจัดเก็บข้อมูลด้านการศึกษา ให้ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนในการเก็บข้อมูลการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะต้องผ่านการวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ก่อนที่จะทำการเผยแพร่ต่อสาธารณชน
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่าควรขอความร่วมมือกับยูเนสโกและยูนิเซฟในการแก้ไขปัญหาการจัดเก็บข้อมูลด้านการศึกษาดังกล่าว รวมทั้งให้ สกศ.ไปศึกษาระบบการเก็บข้อมูลด้านการศึกษาของนานาชาติเพื่อนำมาปรับใช้กับบริบทของไทย เนื่องจากการศึกษาเป็นการลงทุนที่เห็นผลในระยะยาว ดังนั้นการกำหนดนโยบายการศึกษาต้องมาจากข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำจริงๆ
ด้านผู้แทนจากยูเนสโกและยูนิเซฟ มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การดำเนินโครงการและนโยบายต่างๆ จะเกิดขึ้นมิได้ หากแต่ละหน่วยงานจากทั่วโลกไม่ให้ความร่วมมือกัน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ SDG ข้อที่ 17(Partnership for the Goals)
นอกจากนี้ ผู้แทนหน่วยงานดังกล่าวมีความเห็นเกี่ยวกับระบบการจัดเก็บข้อมูลด้านการศึกษาของไทย ซึ่งพบว่ามีที่มาจากหลายแหล่งข้อมูล ทำให้ข้อมูลที่ได้รับมามีความแตกต่างกัน จึงเสนอให้มีการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวโดยวิธีการต่างๆ เช่น การจัดอบรม (Workshop on Education) เป็นต้น
ที่มาภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
ที่มารายงาน : อรพรรณ ฤทธิ์มั่น/บัลลังก์ โรหิตเสถียร