นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ในรอบ 6 เดือนของปีบัญชี 2558 (เมษายน – กันยายน 2558) ธ.ก.ส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในชนบทได้เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 70,820 ล้านบาท ส่งผลยอดรวมของสินเชื่อคงเหลือเป็น 1,160,584 ล้านบาท หรือ ขยายตัวจากสิ้นปีบัญชี 2557 ถึง 6.50% ทำให้ธนาคารมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปีบัญชี 2558 ถึง 1,388,605 ล้านบาท โดยธนาคารมียอดเงินฝากรวม 1,195,707 ล้านบาท สำหรับคุณภาพสินทรัพย์ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 5.66% ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้ธนาคารมีผลกำไรสุทธิ จำนวน 5,627 ล้านบาท รวมทั้งธนาคารมีสถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio ที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ที่ระดับ 11.80% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งเอาไว้ที่ 8.50% สำหรับภารกิจที่สำคัญในปีบัญชี 2558 ประกอบไปด้วยโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แก่
1. โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นการบรรเทาภาระทางการเงินและหนี้สิน ของเกษตรกรรายย่อย ผ่าน 3 โครงการย่อย ดังนี้ คือ โครงการปลดเปลื้องหนี้สินดำเนินการไปแล้ว 8,691 ราย จำนวนเงิน 433 ล้านบาท โครงการปรับโครงสร้างหนี้ 95,241 ราย จำนวนเงิน 13,950 ล้านบาท และโครงการขยายเวลาชำระหนี้ 297,820 ราย จำนวนเงิน 46,594 ล้านบาท และมีการจ่ายเงินกู้เพื่อฟื้นฟูการผลิต จำนวน 285,559 ราย เป็นเงิน 49,624 ล้านบาท
2. โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 เพื่อลดความเสี่ยงจาการประกอบอาชีพ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 92,033 ราย พื้นที่ 1.51 ล้านไร่
3. โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ลูกหนี้ที่ได้รับการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 66,956 ราย ซึ่งลูกหนี้ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการบริหารทุนและหนี้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ธนาคารได้จ่ายสินเชื่อไปแล้ว 36,663 ราย จำนวนเงิน 3,615 ล้านบาท
4. มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้วยการโอนเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ธ.ก.ส.ได้เข้าไปสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยล่าสุดสามารถโอนเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้านแล้ว 16,252 กองทุน วงเงิน 14,805 ล้านบาท มีสมาชิกกองทุนหมู่บ้านได้รับประโยชน์ประมาณ 900,000 ราย
5. โครงการสนับสนุนการออมตามนโยบายของรัฐบาล ธ.ก.ส.เป็นช่องทางในการรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ผ่านเคาน์เตอร์ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ จำนวนผู้สมัคร 202,203 ราย จำนวนเงิน 194,221,557 บาท
6. โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กองทุนอ้อยเเละน้ำตาลทราย จำนวน 16,938 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยให้เกษตรกรในอัตราตันละ 160 บาท จำนวน 105 ล้านตัน มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 153,676 ราย
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้เตรียมมาตรการดูแลพี่น้องเกษตรกรผู้ประสบปัญหาวิกฤติภัยแล้งโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด คาดว่ามีเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ 330,000 ครัวเรือน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระหนี้สินของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร รวมทั้งมีการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ให้กับเกษตรกร โดยสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตทางการเกษตร สินเชื่อเพื่อการสร้างงานในชนบท สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพอื่นๆ สินเชื่อให้กับวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างรายได้ ทั้งรายคนและรายกลุ่ม วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท สำหรับการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าว ธ.ก.ส. จะเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ด้วยการบูรณการการทำงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ทั้งการให้ความรู้และการสนับสนุนสินเชื่อ
นายลักษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ที่เห็นชอบให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐต้องนำส่งเงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พ.ศ. 2558 จำนวน 0.18% ของเงินฝาก ซึ่งส่งผลให้ ธ.ก.ส. ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนในปีนี้ 1,690 ล้านบาท นั้น ธนาคารได้เตรียมความพร้อมและได้กำหนดมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานรองรับไว้แล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. แต่อย่างใด ทั้งนี้ คาดการณ์ผลประกอบการสิ้นปีบัญชี 2558 (31 มี.ค.59) สินเชื่อขยายตัว 122,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.2% ด้านเงินฝากเพิ่มขึ้น 65,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตรา 5.27% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) คาดว่าจะต่ำกว่า 4.0% และจะมีผลกำไรสุทธิจำนวน 9,835 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) อยู่ที่ 0.70% และสถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง BIS Ratio อยู่ที่ระดับ 11.86%
สำหรับกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้ามากำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐระยะที่ 1 ทั้ง 6 ด้าน ประกอบไปด้วย ด้านธรรมาภิบาล การดำรงเงินกองทุน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง กระบวนการด้านสินเชื่อ การกำกับดูแลลูกหนี้รายใหญ่ และการบัญชี การเปิดเผยข้อมูลโครงการนโยบายรัฐ โดยในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้ามาตรวจการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. และได้ให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท.มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ธ.ก.ส. จึงมีความพร้อมเข้าสู่หลักเกณฑ์ทั้ง 6 ด้านดังกล่าว โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติให้เหมาะสมบ้างเล็กน้อย
ที่มา : กระทรวงการคลัง