กฟผ.เข้าร่วมประมูลไอพีพีรอบใหม่ ชี้ 2 บริษัทลูกมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าและจะทำให้เกิดการแข่งขัน ด้านวิเศษ รุกแผนประหยัดพลังงานภาคอุตฯ ตั้งเป้าลดใช้พลังงานในช่วง 6 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นอีก 3,000 ล้านบาท เผยผลรณรงค์ประหยัดพลังงานภาคอุตฯทะลุเป้า
กฟผ.เข้าร่วมประมูลไอพีพีรอบใหม่ ชี้ 2 บริษัทลูกมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าและจะทำให้เกิดการแข่งขันซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเอง ส่วนข้อกำหนดเรื่อง RPS ก็ควรแยกการประมูลออกจากการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก(SPP) ด้าน วิเศษ รุกแผนประหยัดพลังงานภาคอุตสาหกรรม ตั้งเป้าลดใช้พลังงานในช่วง 6เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นอีก 3,000 ล้านบาท เผยผลรณรงค์ประหยัดพลังงานภาคอุตฯทะลุเป้า ระบุที่ผ่านมาประหยัดเงินได้แล้วกว่า 15,000 ล้านบาท |
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด และประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า(เรกูเลเตอร์)มีแนวทางห้ามไม่ให้บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) คือ บริษัท.ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก้ และ บริษัท ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประมูลโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี ) ว่าไม่เห็นด้วยกับการที่จะห้ามไม่ให้ทั้ง 2 บริษัทเข้าร่วมประมูลด้วย เพราะทั้ง 2 บริษัทนี้มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า โดยมีที่ดินอยู่แล้ว และการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 700 เมกะวัตต์ก็ไม่มีปัญหา เพราะมีโรงไฟฟ้าอยู่แล้วและก็ได้รับการยอมรับจากประชาชนแล้วด้วย ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามตามกำหนด และ กฟผ.เองก็ได้สร้างสายส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าในปัจจุบันอยู่แล้ว ซึ่งหาก เอ็กโก้ และราชบุรี ได้เข้าร่วมประมูลด้วยก็จะทำให้เกิดการแข่งขันได้เต็มที่ และประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากค่าไฟฟ้าในราคาที่ต่ำ |
ทั้งนี้ สิ่งที่เอกชนรายอื่น ๆ กังวลในการที่จะให้บริษัทลูกทั้งสองของ กฟผ.เข้าร่วมการประมูลนั้น เป็นเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. เนื่องจากรูปแบบกิจการไฟฟ้าของไทย กฟผ.เป็นผู้รับซื้อรายเดียว ซึ่งควรขจัดข้อกังวลนี้ด้วยกำหนดกฏระเบียบการประมูลไม่ให้บุคคลที่เป็นกรรมการใน กฟผ. หรือในบริษัทลูก ทั้ง 2 เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินการประมูลไอพีพี เพื่อให้การประมูลเป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุด |
การประมูลไอพีพีรอบใหม่ในปี 2555 การที่เอ็กโก้และราชบุรี มีที่ดินอยู่แล้วก็จะทำให้การคัดค้านจากประชาชนในการหาที่ดินใหม่สร้างโรงไฟฟ้าน้อยลง ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามเวลาที่กำหนด ไม่เกิดปัญหาไฟตก ไฟดับ และค่าไฟฟ้าถูกด้วยโดยเรกูเลเตอร์ควรจะฟังความเห็นของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่เสนอให้ 2 บริษัทนี้เข้าร่วมประมูล นายปิยสวัสดิ์ กล่าว |
นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยหากเรกูเลเตอร์จะกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลไอพีพีจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล(อาร์พีเอส) ในสัดส่วน 5% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ว่าเป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง น่าจะแยกระบบการประมูลออกจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP)ไปเลย เพราะการกำหนดให้ใช้พลังงานหมุนเวียนนั้นเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้ในประเทศที่ใช้ไฟฟ้าระบบเพาเวอร์พูล เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการแข่งขันกัน แต่ไทยไม่ได้ใช้ระบบตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า(เพาเวอร์พูล)แล้ว จึงทำให้การดำเนินการล่าช้าออกไป เพราะมีการถกเถียงกันถึงเรื่องข้อกำหนดชนิดของเชื้อเพลิงที่จะใช้และราคาของเชื้อเพลิง |
ควรแยกการประมูลออกจากกันเลยระหว่างการประมูล RPS และ SPP จะเป็นการดีที่สุด เพราะแต่ละคนมีความเก่งและชำนาญไม่เหมือนกัน โดยส่วนของ SPP ก็ให้ใช้ระบบเดิมที่ใครจะเสนอใช้เชื้อเพลิงชนิดไหนอะไรก็เสนอมา แล้วบอกราคาต้นทุนค่าเชื้อเพลิงมาด้วย แล้วนำมาเทียบกันว่าอันไหนมีราคาต้นทุนถูกสุด ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และยังจะทำให้มีผู้ลงทุนพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นมากด้วย นายปิยสวัสดิ์ กล่าว |
นายวิเศษ จูภิบาล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Sunrise for Thai Industrial Energy ว่าในภาวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต้องมีภาระต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้นมาก กระทรวงพลังงานจึงเชิญชวนผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมงาน เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้ภาคเอกชนรับทราบข้อมูลและตระหนักถึงการประหยัดพลังงาน รวมทั้งประยุกต์การใช้พลังงานทดแทนซึ่งกระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าหมายการประหยัดพลังงานภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีก 3,000 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า โดยจะรณรงค์ในโรงงานและอาคารมากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ |
ทั้งนี้ภาครัฐจะให้การช่วยเหลือ โดยมาตรการทางตรง ได้แก่ ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุนประหยัดพลังงาน ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการประหยัดพลังงาน และให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค ด้วยการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรในโรงงาน ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประหยัดพลังงานได้อย่างยั่งยืน ส่วนมาตรการทางอ้อม ได้แก่ ศึกษาเกณฑ์การใช้พลังงานในอุตสาหกรรมแต่ละประเภท พัฒนามาตรฐานการจัดการพลังงาน ศึกษามาตรฐานการใช้พลังงานของเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์และคลีนิคพลังงานให้บริหารทางวิชาการ |
นายวิเศษ กล่าวถึงผลการประหยัดพลังงานภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา ว่า ได้รับผลสำเร็จเกินเป้าหมาย โดยการดำเนินการร่วมกับโรงงานและอาคารกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ สามารถประหยัดได้สูงถึง 15,000 ล้านบาท และสามารถนำพลังงานทดแทนมาใช้ เช่น การใช้ชีวมวลแทนน้ำมันเตาและไฟฟ้าได้ 3% ใช้ก๊าซธรรมชาติและแก๊สโซฮอล์ แทนน้ำมันได้ 0.7% หรือคิดเป็นการประหยัดน้ำมันได้ถึง 14.1 ล้านบาร์เรล ประหยัดเงินได้กว่า 28,200 ล้านบาท |
สำหรับการจัดงานดังกล่าว จะมีการนำเสนอตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จในการประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานทดแทน เช่น การใช้เทคโนโลยี โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งมีผลประหยัดได้ถึง 47.8 ล้านบาทต่อปี ระบบการปรับอากาศโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และการนำเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาใช้เป็นพลังงาน เป็นต้น |
นอกจากนี้จะมีการนำเสนอแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จากผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน รวมทั้งการนำเสนอความช่วยเหลือด้านการประหยัดพลังงานจากภาครัฐ |