รองนายกฯ สมคิด มอบนโยบายให้ สสว. มุ่งพัฒนากลุ่ม Start Up ตั้งแต่มีไอเดียจนถึงผลิตสินค้าสู่ตลาด และเชื่อมต่อ SMEs ไทยกับต่างประเทศด้วยกิจกรรม Business Matching โดยเฉพาะกลุ่มญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ขณะที่ สสว. พร้อมสนองนโยบายและเตรียมเดินหน้ามาตรการเร่งด่วน ทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และช่วยผู้ประกอบการที่เจอปัญหาภัยแล้ง ตั้งเป้ากว่า 70,000 ราย ภายใน 1 ปีครึ่ง หวังให้เป็นกลไกสร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยในโอกาสมอบนโยบายการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ว่า ในการส่งเสริม SMEs ของประเทศในเรื่องเร่งด่วนด้านหนึ่งได้มอบหมายให้ สสว. และ ธพว. มีการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกันเพื่อให้ SMEs เติบโต อยู่รอด โดยเฉพาะในเรื่องการขาย การหาตลาดให้กับสินค้าชุมชน และให้ สสว. ประสานความร่วมมือกับธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ นอกจากนี้ต้องการให้สร้างผู้ประกอบการใหม่ (Start up) 10,000 ราย ภายในระยะเวลา 1 ปีครึ่ง หรือระหว่างปี 2559-2560
“นโยบายของรัฐบาลต้องการให้ไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจบนฐานของผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการใหม่ หรือกลุ่ม Start Up เป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญ เพราะเป็นฐานของการจ้างงาน นวัตกรรม โดยมอบหมายให้ สสว.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ค้นหากลุ่ม Start up ตั้งแต่ในระดับมหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัยที่มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาต่อยอดและส่งเสริมให้เกิดเป็นธุรกิจ หรือตั้งแต่เขามีไอเดียจนถึงเป็นผลิตสินค้าขายได้ ทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนา พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาธุรกิจเกิดใหม่หลากหลายธุรกิจให้เติบโตให้ได้ เช่น ธุรกิจเกม ธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจบริการ-ร้านอาหาร ธุรกิจที่ใช้ IT Base” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ในด้านการตลาดได้มอบหมายให้ สสว. จัดทำเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูล SMEs ให้ครบถ้วน รอบด้าน เพื่อเป็นช่องทางที่จะทำให้ SMEs ไทยขายสินค้าได้มากยิ่งขึ้นและออกสู่ตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ให้มีการทำ Business Matching ระหว่าง SMEs ไทย กับต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงทางธุรกิจกันโดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมีเทคโนโลยี หากมีฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถดึงให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการไทยได้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับ SMEs ไทยให้สามารถก้าวสู่สากล
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า จากการที่ สสว. และ ธพว. มีพันธกิจสำคัญที่มีความเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกันในการส่งเสริม SMEs ของประเทศ เพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จึงได้เตรียมนำเสนอพันธกิจสำคัญที่ สสว. และ ธพว. จะทำงานร่วมกันในระยะเร่งด่วนและปานกลาง (ถึงสิ้นปี 2560) ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการเพื่อรองรับมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ที่กระทรวงอุตสาหกรรม จะเสนอ ครม. ซึ่งเป็นการพัฒนาและข่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) และผู้ที่ต้องการฟื้นฟูกิจการ (Turnaround) ให้แข็งแรงขึ้น และแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับมาตรการบรรเทาภัยแล้ง ซึ่งกำหนดเป้าหมายในการพัฒนารวมจำนวนไม่น้อยกว่า 70,000 ราย ในช่วงระหว่างปี 2558-2559
“สำหรับ SMEs ที่มีอยู่ในปัจจุบันการดำเนินงาน สสว. จะร่วมกับ ธพว. คัดสรรเป้าหมายบางส่วน พิจารณาจากนิติบุคคลที่มีการนำส่งงบการเงินสม่ำเสมอ และอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เติบโตสูง (Hi-Growth) มีรายได้สะสม 3 ปี รวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 6,000-7,000 ราย กลุ่มปานกลาง ที่มียอดขายรวมสะสม 3 ปี เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และกลุ่มลูกค้าของ ธพว. สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่เป็นภาคีพันธมิตร โดยกลุ่มที่ดีอยู่แล้วจะสนับสนุนให้เป็น Champion กลุ่มปานกลางจะส่งเสริมต่อยอดใด้ดีขึ้น กลุ่มที่ประสบปัญหาจะช่วยเหลือให้พลิกฟื้นกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ผอ.สสว. กล่าว
ในส่วนการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ จะมุ่งสนับสนุน SMEs ให้มีนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจ จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ราย ในปี 2559-2561 โดยจะส่งเสริมให้จัดทำแผนธุรกิจให้สามารถกู้ยืมเงิน หรือรับการร่วมลงทุนกับสถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งดูแลและให้คำปรึกษาแนะนำการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการ 10,000 ราย ในปี 2559 โดยจะคัดเลือก SMEs ที่ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพราะติด Credit bureau ให้ได้รับการพัฒนา เริ่มตั้งแต่การวินิจฉัยเชิงลึก ปรับโครงสร้างหนี้ และขณะนี้ สสว. อยู่ระหว่างพิจารณานำเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีอยู่กว่า 1,000 ล้านบาท มาใช้ในการเสริมสภาพคล่องให้กับกลุ่มดังกล่าว
ส่วนแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับมาตรการบรรเทาภัยแล้ง เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ด้วยการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในเขต 26 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จำนวน 9,136 ราย โดยร่วมกับ กรมพัฒนาชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาศักยภาพของสินค้า ส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งระบบออนไลน์ และช่องทางอื่นๆ นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็งและเติบโตต่อไป
ที่มา : http://www.sme.go.th/th/index.php/news1/1015-smes-2559