สกว.จับมือสถาบันวัคซีนฯ ทุ่มงบ 70 ล้านบาท ปั้นนักศึกษาปริญญาเอกภายใน 5 ปี มุ่งพัฒนาบุคลากรรวมถึงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่อยู่ในนโยบายชาติ นำร่องด้วยวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเดงกี ปูทางยุทธศาสตร์ใหม่ในการให้ทุนวิจัยแก่หน่วยงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับงานวิจัยให้ตอบสนองต่อภารกิจ
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแหงชาติ (สวช.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการร่วมให้ทุนพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาเอกระหว่างสกว. และ สวช.ณคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้อำนวยการ สกว. เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาบุคลากรวิจัยระดับปริญญาเอก และสร้างผลงานวิจัยที่มีศักยภาพ ซึ่ง สวช. จะเป็นผู้กำหนดกรอบของโจทย์วิจัยที่ชัดเจนในแต่ละปี ขณะที่ สกว.จะใช้ประสบการณ์เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการงานวิจัย ภายใต้ทุน คปก. และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของทุกฝ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะร่วมกันจัดสรรงบประมาณ 70 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนของ สวช. ประมาณ 7 ล้านบาท และ สกว. 63 ล้านบาท รวมจำนวน 35 ทุน ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึง 2563 ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถขยายความร่วมมือลักษณะนี้ไปยังหน่วยงานวิจัยภาครัฐแห่งอื่นๆ อย่างกว้างขวาง และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองคาพยพในระบบวิจัยของประเทศให้เติบโตแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ขณะที่ผู้อำนวยการ สวช. กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ช่องว่างในการพัฒนาวัคซีนของประเทศ พบว่าค่อนข้างมีข้อจำกัดทั้งจำนวนและศักยภาพของบุคลากรที่มีภารกิจในการวิจัยพัฒนา กระบวนการผลิต และการประกันคุณภาพวัคซีน สถาบันได้จัดการให้ทุนวิจัยพัฒนาวัคซีนตามเป้าหมายของชาติตั้งแต่ ปี 2557 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีโครงการวิจัยที่ได้ให้การสนับสนุนทุนแล้วรวมทั้งสิ้น 20 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยพัฒนาวัคซีนที่อยู่ในนโยบายวัคซีนแห่งชาติ และวาระแห่งชาติด้านวัคซีน ได้แก่ วัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่ วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันวัณโรคชนิดใหม่ รวมถึงการพัฒนาการทดสอบเพื่อการประกันและควบคุมคุณภาพวัคซีน
เพื่อให้การพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนตอบสนองความต้องการของประเทศ สถาบันได้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนอย่างเป็นระบบ โดยร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายด้านวัคซีน และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความร่วมมือกับสกว. ในการสนับสนุนทุนให้กับนักศึกษาระดับปริญญาเอก เพื่อผลิตนักวิจัยที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานวัคซีนของประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่มีความยาก ท้าทายความสามารถ และเป็นจุดที่ประเทศขาดแคลน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้มีงานวิจัยด้านวัคซีนที่มีคุณภาพ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้ประเทศมีความเข้มแข็งในการวิจัยพัฒนา อีกทั้งจูงใจให้บุคลากรรุ่นใหม่เกิดความสนใจและมาช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศในด้านการวิจัยพัฒนาวัคซีน ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนแก่ประเทศต่อไป
ด้าน ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ภายใต้ สกว. ระบุว่าในปี 2558 ที่ผ่านมา สกว. ได้นำร่องให้ทุนร่วมกับ 3 หน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยแสงซินโคตรอน (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยดำเนินการให้ทุนไปแล้ว จำนวน 9 ทุน ซึ่งนับเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของ คปก. ในการสนับสนุนทุนวิจัยแก่หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาเอกให้กับหน่วยงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจที่ เพื่อยกระดับคุณภาพกำลังคนและพัฒนางานวิจัยในหน่วยงาน โดยใช้โจทย์วิจัยที่ตอบสนองต่อภารกิจ/ยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน ด้วยกลไกที่มีมาตรฐานของ คปก.
ศ.ดร.ศุขธิดา อุบล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอผลงานวิจัยโครงการวัคซีนไข้เลือดออกเดงกี “A novel dengue nanovaccine” ว่าไวรัสเดงกีเป็นไวรัสที่มีแมลงเป็นพาหะที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เมื่อไม่นานมานี้องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการไว้ว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะหรือวัคซีนที่สามารถรักษาและป้องกันได้ คณะวิจัยของ ศ. ดร.ศุขธิดาได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารอเมริกัน(AFRIMS) ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวทช. คปก.-สกว. AFRIMS และสวช. เพื่อพัฒนาเดงกีนาโนวัคซีน 2 รูปแบบ คือ 1.เดงกีนาโนวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated-dengue nanovaccine) ที่มีบีซีจีเป็นสารเสริมฤทธิ์ (Adjuvant) ที่ช่วยให้วัคซีนกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น 2. เดงกีนาโนวัคซีนที่มีโปรตีนอีดี3 และเอ็น-ไตรเมทิลไคโตซาน เป็นอนุภาคนาโน (EDIII-NS1-dengue nanovaccine) และมีสารเสริมฤทธิ์ วัคซีนทั้งสองรูปแบบนี้ใช้ไคโตซานเป็นระบบขนส่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารเสริมฤทธิ์ด้วย ทำให้ร่างกายเกิดการตอบสนองต่อวัคซีนได้มากขึ้น รวมถึงสามารถกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในหนูทดลองได้อย่างดีอีกด้วย
ส่วน รศ.ดร.นพ.สุธี ยกส้าน กล่าวถึง “ความสำคัญในการสร้างนักวิจัยระดับปริญญาเอกต่อการพัฒนาวัคซีนของประเทศไทย” ว่าเพื่อที่เราจะได้มีนวัตกรรมของตัวเองในการคิดค้นวัคซีนใหม่และปรับปรุงประสิทธิภาพวัคซีนที่มีใช้อยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรเพิ่มขึ้นโดยมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน กำลังคน เทคโนโลยี และปัจจัยอื่น ๆ เช่น ทีมงาน เครือข่ายความร่วมมือ มาตรฐานและความเชื่อถือ