เนื้อหาวันที่ : 2015-10-13 09:27:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2048 views

เชฟรอน และ สวทช. มอบรางวัลผลงาน 3 มิติ สุดล้ำ Enjoy Science: Let’s Print the World การประกวดเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ครั้งแรกของประเทศ

เทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ (3D Printing) เป็นนวัตกรรมที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางและได้รับการนำไปใช้ในหลากหลายวงการ ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในอนาคต เมื่อเราสามารถ “พิมพ์” สิ่งต่าง ๆ ได้ตามต้องการ โดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ เหมือนที่เราใช้เครื่องพิมพ์ทั่วไปในปัจจุบัน โดยมีการนำมาใช้กันในหลากหลายวงการ ทั้งการแพทย์ สถาปัตยกรรม อุตสาหกรรม ไปจนถึงการออกแบบ

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือมีการนำใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยมากนัก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดโครงการ Enjoy Science: Let’s Print the World การประกวดออกแบบผลงานจากเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ ครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อชิงรางวัลรวมกว่า 680,000 บาท เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการเรียนรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้มีพิธีประกาศผลและมอบรางวัลแก่ผู้ชนะ ไปเมื่อเร็วๆ นี้

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยถึงที่มาของโครงการ Let’s Print the World ว่า “โครงการ Let’s Print the World เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Math) หรือสะเต็ม (STEM) โดยเชฟรอน ได้ร่วมกับ สวทช. เฟ้นหากิจกรรมที่จะสื่อสารให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปเห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องสนุก และเป็นเรื่องใกล้ตัว เพื่อให้เกิดความสนใจและแรงบันดาลใจต่อการศึกษาในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น เราเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เราจึงจัดการประกวดออกแบบผลงานจากเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิตินี้ขึ้น และเชิญชวนให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปลองใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการว่าจะนำเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาสร้างเป็นผลงานอะไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการสรรค์สร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้”

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “การประกวดนี้มุ่งสร้างความสนใจและแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สาธารณชนในวงกว้าง เราจึงแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภท คือ นักเรียน – นักศึกษา (ระดับไม่เกินปริญญาตรีหรือเทียบเท่า) และบุคคลทั่วไป เปิดรับสมัครผลงานในระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ผ่านมา ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเยาวชนและบุคคลทั่วไปส่งผลงานเข้าร่วมทั้งหมด 149 ชิ้น จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และเพื่อให้โครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงรางวัลสำหรับผู้เข้าประกวดจึงเป็นรางวัลที่ไม่ใช่จำนวนเงิน หากแต่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารอบสุดท้ายจำนวน 30 ท่าน ได้มาเข้าค่ายอบรมและแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ การออกแบบ และการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งจะให้ความรู้และแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าประกวดเพื่อนำไปต่อยอดทั้งในการศึกษาและการประกอบอาชีพได้ และสำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้เดินทางไปเข้าร่วมงาน Maker Faire Berlin ที่ประเทศเยอรมนี เพื่อเปิดโลกทัศน์ในเรื่องของการสร้างสรรค์นวัตกรรมรูปแบบต่างๆ จากนักประดิษฐ์และนักออกแบบระดับโลก และยังมีรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 680,000 บาท” 

ในรอบสุดท้าย ผู้เข้ารอบได้สั่งพิมพ์ชิ้นงานและปรับแก้จนได้ตามต้องการและส่งมอบชิ้นงานพร้อมนำเสนอแก่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งใช้หลักเกณฑ์ในการตัดสินผลงาน ประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นไปได้ในการผลิตชิ้นงานประโยชน์ใช้สอย ศักยภาพในการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์หรือสังคม และเอกลักษณ์ความเป็นไทย  โดยผู้ชนะเลิศในประเภทนักเรียน-นักศึกษา ได้แก่ นางสาวศิริลักษณ์ สังวาลวรวุฒิ จากผลงาน “ปะการังเทียม” ส่วนผู้ชนะเลิศในประเภทบุคคลทั่วไป ได้แก่ นางสาวเสาวคนธ์ ภุมมาลี จากผลงาน “ทศกัณฑ์”

นางสาวศิริลักษณ์ สังวาลวรวุฒิ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงผลงาน ปะการังเทียม ว่า “ปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล ในปัจจุบันปะการังในธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีอัตราการรอดชีวิตน้อยลง หนึ่งในวิธีการฟื้นฟูแนวปะการังก็คือการใช้ปะการังเทียม อย่างไรก็ดีปะการังเทียมที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีอัตราการเติบโตและการอยู่รอดของปะการังที่ไม่สูงนัก ดิฉันจึงเกิดแนวคิดที่จะใช้เทคโนโลยีสามมิติผลิตต้นแบบปะการังเทียมเพื่อช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยออกแบบให้สามารถลดแรงกระแทกของน้ำทะเลซึ่งจะช่วยให้เพิ่มอัตราการลงเกาะ การเติบโตและการอยู่รอดของปะการังได้ ทั้งยังสามารถเพิ่มความหลากหลายของปะการังที่มายึดเกาะซึ่งจะนำไปสู่ความหลากหลายของระบบนิเวศน์ทางทะเลอีกด้วย เมื่อนำปะการังเทียมต้นแบบไปผลิตและนำไปใช้จริงจะไม่เพียงช่วยอนุรักษ์และพื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเล แต่ยังเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของทะเล อันนำไปสู่การกำเนิดของแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทยได้อีกด้วย”

นางสาวศิริลักษณ์ สังวาลวรวุฒิ ผู้ชนะเลิศในสาขานักเรียนนักศึกษากับผลงาน ปะการังเทียม

ด้าน นางสาวเสาวคนธ์ ภุมมาลี สถาปนิกและนักออกแบบอิสระกล่าวถึงผลงาน ทศกัณฑ์ ว่า “โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันมีความสนใจทั้งเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ และศิลปวัฒนธรรมไทย จึงเกิดแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาสร้างผลงานออกแบบที่มีกลิ่นอายของศิลปะไทย โดยใช้หัวโขนทศกัณฑ์เป็นแบบ ซึ่งความท้าทายของการสร้างงานชิ้นนี้คือการขึ้นรูปชิ้นงานสามมิติ ซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อนและต้องทำให้ได้สัดส่วนที่ถูกต้อง ทั้งยังต้องออกแบบโดยคำนึงถึงเงื่อนไขทางเทคนิคของเครื่องพิมพ์สามมิติและวัสดุที่ใช้พิมพ์ จึงจะได้ผลงานที่สวยงาม โดยผลงานทศกัณฑ์สามารถนำไปปรับเป็นขนาดต่างๆ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ เช่น โคมไฟ ของตกแต่งบ้าน พวงกุญแจ เป็นต้น ซึ่งผลงานนี้แสดงให้เห็นว่าศิลปะไทยสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้อีกมากมาย ด้วยการผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่”

นางสาวเสาวคนธ์ ภุมมาลี ผู้ชนะเลิศในสาขาบุคคลทั่วไปกับผลงาน ทศกัณฑ์

นางสาวศิริลักษณ์ กล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อโครงการ Let’s Print the World ว่า “ก่อนการประกวด ตัวดิฉันเองไม่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้การพิมพ์สามมิติมากนัก แต่เนื่องจากโครงการนี้ให้ความสำคัญกับไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้กับทุกคน โดยผู้ที่ส่งผลงานไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติเลย ซึ่งต่างจากการประกวดอื่นๆ ที่ต้องการผู้สมัครที่มีทักษะเพียบพร้อม ดิฉันจึงตัดสินใจส่งผลงานเข้าร่วม เมื่อมาเข้าค่ายอบรมก็ได้ความรู้และคำแนะนำมากมายจากวิทยากรและทีมงาน ทำให้สามารถพัฒนาและเพิ่มเปลี่ยนไอเดียออกมาเป็นผลงานได้ในที่สุด ซึ่งประสบการณ์ ความรู้ และทักษะที่ได้รับ ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งกับการศึกษาต่อและประกอบอาชีพในอนาคตอีกด้วย”

สำหรับผลงานอื่นๆ ที่ได้รับรางวัลในสาขานักเรียน-นักศึกษา ประกอบด้วย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 “โคมไฟเอนกประสงค์” โดยนายเกื้อกูล ต่อสกุล ซึ่งออกแบบโคมไฟที่รวมเอาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มาไว้ด้วยกัน เช่น นาฬิกาปลุก ลำโพง ที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ “ต้นแบบที่เก็บสายหูฟัง” โดยนาย ศิรพัชร นาคะรัตนากร ซึ่งเปลี่ยนหูฟังแบบธรรมดาให้เป็นหูฟังแบบสปอร์ต ที่สายหูฟังไม่เกะกะ ขณะที่รางวัลในประเภทบุคคลทั่วไปนั้น รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่นางสาวพิริยา เดชธาดา กับผลงาน I did it all” ของที่ระลึกแนวใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวให้น่าประทับใจยิ่งขึ้น และรองชนะเลิศอันดับ 2 นางสาวหยาดนภา ผาเจริญ กับผลงาน “แบบจำลองเพื่อใช้ในการเรียนนวดฝ่าเท้าแผนไทยอย่างมีประสิทธิภาพ” นวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถนวดในจุดที่แม่นยำ ด้วยแรงที่พอเหมาะ ซึ่งจะช่วยยกระดับการนวดแผนไทยให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในระดับสากล

นายไพโรจน์ กล่าวว่า “ผลงานที่ส่งเข้าประกวดโครงการ Let’s Print the World แต่ละชิ้นสะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่นในการนำเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติมาใช้ในการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่จำกัด ขึ้นกับความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ โดยเราหวังว่าการประกวดนี้จะช่วยให้เยาวชนและคนที่สนใจการออกแบบเห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องสนุกและน่าสนใจ และจุดประกายให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเกิดแรงบันดาลใจและความสนใจในการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของโครงการ “Enjoy Science: สนุกคิด พลังวิทย์ เพื่ออนาคต”

รายชื่อผู้ได้รับรางวัลจากโครงการ Let’s Print the World

ประเภทนักเรียนนักศึกษา

รางวัลชนะเลิศ:

นางสาว ศิริลักษณ์ สังวาลวรวุฒิ

ผลงาน     

ปะการังเทียม

ของรางวัล

ชุด 3D Printer & Scanner มูลค่า 100,000 บาท และ ทริปเดินทางเข้าร่วมงาน Maker Faire Berlin

รางวัลที่ 2:

นาย เกื้อกูล ต่อสกุล

ผลงาน

โคมไฟเอนกประสงค์

ของรางวัล

ชุด 3D Printer & Scanner มูลค่า 80,000 บาท

รางวัลที่ 3:

นาย ศิรพัชร นาคะรัตนากร

ผลงาน

ต้นแบบที่เก็บสายหูฟัง

ของรางวัล

ชุด 3D Printer & Scanner มูลค่า 60,000 บาท

ประเภทประชาชนทั่วไป

รางวัลที่ 1:

นางสาว เสาวคนธ์ ภุมมาลี

ผลงาน     

ทศกัณฑ์

ของรางวัล

ชุด 3D Printer & Scanner มูลค่า 100,000 บาท และ ทริปเดินทางเข้าร่วมงาน Maker Faire Berlin

รางวัลที่ 2:

นางสาว พิริยา เดชธาดา

ผลงาน

I did it all

ของรางวัล

ชุด 3D Printer & Scanner มูลค่า 80,000 บาท

รางวัลที่ 3:

นางสาว หยาดนภา ผาเจริญ

ผลงาน

แบบจำลองเพื่อใช้ในการเรียนนวดฝ่าเท้าแผนไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

ของรางวัล

ชุด 3D Printer & Scanner มูลค่า 60,000 บาท