เนื้อหาวันที่ : 2015-10-12 13:32:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 852 views

อินเทล ผลักดันเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างยั่งยืน

บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “Intel IoT Solutions Conference 2015” เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และเพื่อเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ในยุคไอที การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้แทนภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเสวนา ณ โรงแรมคอนราด เพลินจิต กรุงเทพมหานคร

ในปัจจุบันได้มีนโยบายนำเทคโนโลยี IoT มาใช้เพื่อเชื่อมต่อเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีปฏิบัติการต่าง ๆ ให้เป็นระบบอัจฉริยะ ซึ่งรวมถึงการนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อาคารและบ้านอัจฉริยะ การขนส่งอัจฉริยะ เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อธุรกิจค้าปลีก เทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงภาครัฐ เช่น เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อนำไปสู่คุณภาพในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน นอกจากนี้เทคโนโลยี IoT ยังสามารถช่วยลดการใช้พลังงานหรือเชื้อเพลิง ลดมลภาวะ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางหรือการขนส่งผ่านการบริหารจัดการด้วยระบบคลาวด์ ซึ่งจะสามารถนำไปสู่ระบบคมนาคมอัจฉริยะ (Smart Transportation)

นายสนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ชี้แนะว่าประเทศไทยมีโอกาสสูงในการปรับใช้เทคโนโลยี IoT เนื่องจากทั้งภาครัฐและเอกชนมีการพัฒนาโครงสร้างด้านการสื่อสารและการคมนาคมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายสนธิญา ยังได้กล่าวถึงขั้นตอนต่อไปของอินเทลในการเร่งการปรับใช้เทคโนโลยี IoT สู่สังคมโดยรวม นั่นคือการปรับปรุงและเสริมสร้างแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางในการเชื่อมโยงเทคโนโลยี IoT สู่เครือข่ายออนไลน์ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบคลาวด์เพื่อเป็นฐานเก็บข้อมูล หรือการสรรหาวิธีลดต้นทุนการผลิตที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างคุณค่าทางตลาดของเทคโนโลยีชนิดนี้ได้ อินเทลยังมุ่งที่จะผลักดันความร่วมมือกับหลากหลายองค์กรผู้บุกเบิกทางด้าน IoT เพื่อร่วมกันสร้างมาตรฐานสากลในอุตสาหกรรมและแสวงหาโซลูชั่นต่าง ๆ ที่จะสามารถนำไปสู่การสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบปฏิบัติงานต่าง ๆ (Interoperability) ของเทคโนโลยี IoT จากแต่ละองค์กรได้ราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น และอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญคือ การเร่งขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้เทคโนโลยี IoT ซึ่งอินเทลมีบทบาทในการคิดค้นและนำเสนอโซลูชั่นใหม่ๆ สู่ท้องตลาดและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การขนส่ง อย่างต่อเนื่อง

ภายในงานได้มีการนำเสนอกรณีศึกษาของการปรับใช้เทคโนโลยี IoT ในประเทศไทย โดยได้นำเสนอโครงการ All Thai Taxi ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท นครชัย แอร์ จำกัด และ บริษัท ไอทีเอส คอนซัลแตนซี จํากัด โดยได้รับการสนับสนุนจากอินเทล ประเทศไทย ในการนำเทคโนโลยี IoT มาช่วยเพิ่มประสิทธิผลจากการดำเนินธุรกิจรถแท็กซี่โดยสารในกรุงเทพฯ รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเมืองอัจฉริยะ (Smart City Research Center) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอทีเอส คอนซัลแตนซี จํากัด ในฐานะหัวหน้าทีมพัฒนาและออกแบบระบบแท็กซี่อัจฉริยะของ All Thai Taxi ได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ของการใช้ IoT ในการคำนวณระยะเวลาและเส้นทางการเดินรถแต่ละคัน และเชื่อมต่อเข้ากับข้อมูลการจราจร และข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ที่สามารถช่วยให้แท็กซี่ทุกคันเดินรถอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลจากรถของ All Thai Taxi ทั้งหมดเพื่อการบริหารจัดการการเดินรถให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาของ บริษัท ยูนิ-แอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของบริษัทสัญชาติไทยที่ริเริ่มการใช้เทคโนโลยี IoT ในการยกระดับธุรกิจ โดย ดร.ณรัณ ศิริสันธนะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิ-แอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้กล่าวถึงประสิทธิภาพของ IoT ในการยกระดับสมรรถภาพของเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ (Chiller) โดยสามารถควบคุมอุณหภูมิและประหยัดพลังงานได้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ใช้ เนื่องจากผู้ใช้สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลในระบบคลาวด์เพื่อพิจารณาการใช้เครื่องปรับอากาศในแต่ละส่วนของอาคารสำนักงานหรือโรงงานอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากสถานะของเครื่องปรับอากาศเพื่อให้สามารถคาดการณ์เวลาที่เหมาะสมในการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เทคโนโลยี IoT ยังคงมีความท้าทายในการปรับใช้บางประการ โดยเฉพาะด้านการปกป้องข้อมูลส่วนตัวและความปลอดภัยเมื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต การบูรณาการโครงสร้างเครือข่ายไอทีและระบบปฏิบัติงานต่าง ๆ ระหว่างอุปกรณ์ IoT แต่ละชิ้น หรือความยากในการวัดผลความสำเร็จด้านการลงทุนจากเทคโนโลยีชนิดนี้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามเทคโนโลยี IoT มีศักยภาพสูงในการนำเสนอระบบการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว รวมทั้งสามารถช่วยลดต้นทุนและประหยัดทรัพยากรได้

คาดว่าในปี 2558 จะมีอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ต ได้แล้วกว่า 15 พันล้านชิ้นทั่วโลก และคาดการณ์ว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นถึง 50 พันล้านชิ้นภายในปี 2563 ดังนั้นการปรับใช้เทคโนโลยี IoT จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชนอีกต่อไป และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ควรเร่งเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเชื่อมโยงของระบบ IoT

มร.แลร์รี่ เชง ผู้อำนวยการฝ่ายขาย อินเทล คอร์ปอเรชั่น บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Internet of Things–The New Computing Era”

นายสนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเสวนาพิเศษ เรื่อง “Internet of Things Solutions Building and Experience Sharing” ยกตัวอย่างกรณีศึกษาการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ประเทศไทย

รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเมืองอัจฉริยะ (Smart City Research Center) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอทีเอส คอนซัลแตนซี จํากัด ทีมพัฒนาและออกแบบระบบ แท็กซี่อัจฉริยะ ของ All Thai Taxi

ดร.ณรัณ ศิริสันธนะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิ-แอร์ จำกัด