เนื้อหาวันที่ : 2015-09-29 16:44:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1955 views

กรมโรงงานฯ เผยโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4 จังหวัด สำเร็จตามเป้า พร้อมกำหนดกุญแจ 5 ระดับ ผลักดัน Eco Town ไทยเทียบชั้นญี่ปุ่น

 

     กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยกุญแจสำคัญสู่การผลักดันเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ไทยเทียบชั้นญี่ปุ่น โดยกำหนดความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Town) ไว้ 5 ระดับ เทียบเท่าระดับสากล ได้แก่ การปฏิบัติตามกฎหมาย การรักษามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชน และการก้าวเข้าสู่เมืองสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งผลการเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมไทย 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และ สระบุรี  ภายใต้โครงการ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 2558”  ได้ผลักดันโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการฯให่เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับต่างๆ รวม 155 โรงงาน คิดเป็น 52.7% จากโรงงานที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย 4 จังหวัดทั้งหมด 294 โรง สู่การเป็นเมืองสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

 

     นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) มุ่งหวังที่จะยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้ทัดเทียมกับต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้นำสังคมที่ใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ ที่ใช้เทคโนโลยีเชื้อเพลิงและพลังงานใหม่ๆมาทดแทนคาร์บอน แต่ยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของการพัฒนา Eco town ประเทศหนึ่งในโลก ขณะเดียวกันประเทศเดนมาร์กก็มีการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับแนวหน้าของโลกในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Industrial Symbiosis) สำหรับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศไทย ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยมีบทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงผลักดันและให้ความสำคัญกับการประกอบกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุดหรือไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลย ซึ่งกุญแจสำคัญในการพัฒนา

 

เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ถูกกำหนดไว้เป็น 5 ระดับ ได้แก่

     ระดับที่ 1 การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ

     ระดับที่ 2 การรักษาระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการประกอบการอุตสาหกรรม

     ระดับที่ 3 การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

     ระดับที่ 4 การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชน

     ระดับที่ 5 การก้าวเข้าสู่เมืองสังคมคาร์บอนต่ำ

 

     ทั้งนี้ประเทศไทยจะก้าวสู่ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างสมบูรณ์และสามารถยกระดับให้ทัดเทียมระดับสากลได้ หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนคือ ความร่วมมือกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เนื่องจากเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นการพัฒนา และ บริหารโดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมทั้งประสาน สนับสนุนการพัฒนาชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรมให้เข้มแข็ง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ครอบคลุมทุกพื้นที่ใน  5 มิติ ได้แก่ ด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ

 

     ด้าน ดร. พสุ  โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศในเรื่องการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี 2555 โดยโครงการหนึ่งที่สำคัญในปี 2558 นี้ คือโครงการ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” (Eco Town Center) ได้พัฒนาพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม 4 แห่ง  4 จังหวัด ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชสระบุรี จังหวัดสระบุรี  มุ่งเน้นให้องค์ความรู้แก้ผู้ประกอบกิจการในเขตอุตสาหกรรมเป้าหมาย ว่าด้วยการบริหารจัดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปลดปล่อยของเสียให้เหลือน้อยที่สุด ปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศ การปรับพฤติกรรมการบริโภค ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Network)  การศึกษาดูงานโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 และระดับที่ 5  การฝึกอบรมเตรียมความพร้อมสู่ CSR-DIW (Corporate Social Responsibility) พร้อมทั้งได้คัดเลือกโรงงานอุตสาหกรรมที่เหมาะสม 3 โรงงาน ให้เข้าร่วมกิจกรรมการเพิ่มมูลค่าและประโยชน์ของกากอุตสาหกรรม ทั้งนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับต่างๆ รวม 155 โรงงาน คิดเป็น 52.7% จากโรงงานที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย 4 จังหวัดทั้งหมด 294 โรง นอกจากนี้ กรอ. ได้เตรียมการในการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมประจำเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่การให้ความรู้ สำรวจข้อมูลการจัดการกากอุตสาหกรรม คัดเลือกโรงงานเป้าหมายที่สามารถแลกเปลี่ยนกากอุตสาหกรรมซึ่งกันและกัน รวมถึงการวิเคราะห์การไหลของสารโดยใช้ Material Flow Analysis (MFA) ซึ่งผลจากการดำเนินการดังกล่าวจะถูกนำไปพิจารณาร่วมกับการวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และ ภัยคุกคาม เพื่อนำไปกำหนดยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ สำหรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในพื้นที่นั้นๆ


            โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนจะได้รับประโยชน์จากโครงการฯโดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม มีการดำเนินการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือไม่มีการปล่อยมลพิษ (Zero Emission) มีการลดการใช้พลังงานในการผลิตหรือการบริการ มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และมีการแลกเปลี่ยนของเสีย ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันตามหลักการ 3R ได้แก่ ลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) อันเป็นการเสริมสร้างศักยภาพการแปรใช้ใหม่ของวัสดุของผู้ประกอบการ ก่อให้เกิดสังคมของการใช้วัสดุหมุนเวียน (Material-cycle Society) สังคมคาร์บอนต่ำ มีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Low Carbon Society) และสังคมของการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption) เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน ดร. พสุ  กล่าวสรุป

 

สำหรับผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564   หรือ www.diw.go.th