นักวิจัย มจธ. ส่งเสริมการยกระดับผลิตภัณฑ์จากพืชพื้นบ้านไทย พัฒนา "กรรมวิธีการผลิตสารยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสจากใบบัวบกเพื่อใช้ในเครื่องสำอาง" ตัวการก่อเม็ดสีเมลานินในผิว เพื่อให้ได้สารสกัดธรรมชาติแท้ที่มีประสิทธิภาพนำไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค หวังผลักดันผลิตภัณฑ์ไทยสู่ตลาดสากล
ปัจจุบันแนวโน้มและความต้องการใช้สมุนไพรมีมากขึ้น ผู้บริโภคตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ ประกอบกับประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางด้านทรัพยากรสมุนไพรหลายชนิด โดยเฉพาะสมุนไพรพื้นบ้าน มีการนำสมุนไพรมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยกำลังเติบโตและขยายตัว แต่คนไทยยังนิยมใช้สินค้าจากต่างประเทศรวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากต่างประเทศ ทำให้มีมูลค่าการนำเข้าสมุนไพรของไทยสูงถึง 2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะที่มีการผลิตใช้เองในประเทศไทยเพียง 1.3 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น
ทั้งนี้การศึกษาวิจัยสมุนไพรไทยจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทยได้ รศ.ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ และ รศ.ดร.อรพิน เกิดชูชื่น อาจารย์จากคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้พัฒนา “กรรมวิธีการสกัดสารยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสจากใบบัวบกเพื่อใช้ในเครื่องสำอาง” ขึ้นมาโดย รศ.ดร.ณัฎฐา กล่าวว่า เลือกศึกษา “ใบบัวบก” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มมูลค่าให้แก่พืชพื้นบ้านของไทย
“ประเทศไทยมีแดดแรง และอันตรายจากรังสียูวีก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดความบกพร่องบนผิวของคนไทย เนื่องจากเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผิวเกิดริ้วรอย เป็นฝ้า กระ และจุดด่างดำ ที่มีผลมาจากเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทมากที่สุดในการเร่งการสังเคราะห์เมลานินในเมลาโนไซต์ซึ่งมีผลต่อกระบวนการสร้างเม็ดสี ดังนั้นนอกจากการปกป้องผิวจากรังสียูวีแล้ว เราจึงต้องยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสด้วย และจากการศึกษาพืชจำนวน 13 ชนิด อาทิ ใบบัวบก ขมิ้นชัน ไพล ทานาคา ปอสา ถั่วเหลือง แตงกวา ขิง ว่านหางจระเข้ ฯลฯ พบว่า สารสกัดจากใบบัวบกมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ดีที่สุด เราจึงพัฒนากรรมวิธีสกัดสารจากใบบัวบกให้ได้สารที่บริสุทธิ์ มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อผู้ใช้มากที่สุด”
รศ.ดร.ณัฎฐา เปิดเผยว่า กรรมวิธีการสกัดสารยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสจากใบบัวบกเพื่อใช้ในเครื่องสำอางนั้นได้รับการอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนในการสกัดนั้นมีการใช้ใบบัวบกสดและแห้ง โดยการศึกษาใช้ตัวทำละลาย 2 ชนิดคือ เอทานอล และปิโตรเลียมอีเทอร์ พบว่า ตัวทำละลาย 99% เอทานอลมีประสิทธิภาพในการสกัดสารจากใบบัวบกได้ดีกว่า และถือเป็นตัวทำละลายที่ปลอดภัยตามหลักของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งในกรรมวิธีที่ได้รับอนุสิทธิบัตรนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ได้สารสกัดจากธรรมชาติแท้ที่มีความบริสุทธิ์ มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง
โดยจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า สารสกัดจากใบบัวบกสดมีฤทธิ์ในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและสาร ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ดีกว่าใบบัวบกแห้ง โดยการทดลองนำสารสกัดจากใบบัวบกความเข้มข้นต่ำสุดที่ให้ค่า การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสร้อยละ 50 (IC50) หรือเท่ากับ 446 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ผสมเข้ากับเบสครีม พบว่าสารสกัดใบบัวบกสดจากเอทานอลมีรูปแบบการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสแบบผสม เนื่องจากมีสารสำคัญอย่าง อาร์บูติน และกรดมาดีแคชโซไซด์ ซึ่งเป็นสารที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ดี และจากการทดลองบนผิวหน้าของอาสาสมัครจำนวน 5 คน ที่มีรอยกระฝ้า และจุดด่างดำที่เกิดจากแสงแดด โดยการทาครีมที่ผสมสารสกัดใบบัวบกวันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 8 วัน พบว่า ไม่มีอาการแพ้ หรือแสบแดง และสามารถลดปัญหารอยหมองคล้ำบนผิวได้อย่างชัดเจน โดยการวัดค่าความสว่างของผิวด้วยเครื่องวัดสีในห้องปฏิบัติการทุกๆ 2 วัน สภาพผิวของอาสาสมัครมีความสว่างเพิ่มขึ้น (วัดเป็นค่าเดลต้า L) และมีค่าสีเหลืองเพิ่มขึ้น (วัดเป็นค่าเดลต้า B)
“ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นเพียงองค์ความรู้ในเรื่องกรรมวิธีการสกัดสารจากใบบัวบกด้วยเอทานอล เพื่อส่งเสริมการยกระดับคุณภาพพืชพื้นบ้านของไทยให้เป็นสารสกัดจากธรรมชาติแท้ที่บริสุทธิ์ ปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง เป็นการพัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย แต่การต่อยอดจากกรรมวิธีสกัดสู่ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นยังจะต้องมีการพัฒนาในเรื่องของอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์ต่อไปเมื่อนำมาผสมในเบสครีมแล้ว เนื่องจากเป็นสารสกัดจากสมุนไพรบริสุทธิ์ที่ไม่มีสารสังเคราะห์มาเจือปน จึงอาจทำให้อายุในการเก็บรักษาสั้นกว่าปกติ”