สศอ.ชี้ช่องทางลงทุนในอุตสาหกรรมด้านต่างๆของอินเดีย เผยกลยุทธ์เชื่อมโยงเครือข่ายอุตสาหกรรมสำคัญที่น่าจับตามอง ทั้งยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยางพารา
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจ ที่ไทยประสบอยู่ขณะนี้คือ ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) และ ญี่ปุ่น มีการ หดตัวเนื่องจากเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในประเทศของกลุ่มประเทศเหล่านั้น สิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการคือ การแสวงหาตลาดใหม่ๆที่มีศักยภาพ รองรับผลผลิตของไทยโดยเฉพาะผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ไทยเป็นฐานการผลิตและมีศักยภาพ ประกอบกับภาวะค่าแรงของไทยมีการปรับสูงทัดเทียมกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตของอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ก็ลดน้อยถอยลง การเร่งหาฐานการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม รวมถึงการเป็นแหล่งลงทุนใหม่ทางด้านอุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น โดยก่อนหน้านี้มักจะมองว่า จีนเป็นแหล่งลงทุนและฐานการผลิตสำคัญของเอเชีย แต่อันที่จริงแล้วยังมีอินเดียอีกประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพด้านการลงทุนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า
โดยประเทศอินเดีย มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีการคาดการณ์ว่าอินเดียจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกในปี 2028 และเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก ในปี 2020 อินเดียจะได้ชื่อว่าเป็น The most working country in the World เนื่องจากจะมีประชากรอินเดียเพิ่มขึ้นแซงหน้าจีน มีการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment :FDI) สะสมตั้งแต่ปี 2543-2557 อยู่ที่ 238,748 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับภาคอุตสาหกรรมอินเดีย มีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรม ภายใต้ชื่อ Make in India ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวจะทำให้อินเดียกลายเป็น Factory of the World ภายในปี 2028 อีกด้วย
นอกจากนั้น ยังพบว่า ขนาดเศรษฐกิจของประเทศอินเดีย (GDP) ในปี 2014 อัตราเติบโตร้อยละ 7.2 มีมูลค่า 2.05 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2015 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.5 คิดเป็นมูลค่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2020 คาดว่า GDP เติบโตร้อยละ 7.8 คิดเป็นมูลค่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจาก GDP ของอินเดียในปี 2020 ที่เพิ่มขึ้นนั้น ปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนคือ GDP ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 70.5 มาจากนโยบาย Make in India ซึ่งนโยบายดังกล่าว รัฐบาลอินเดียได้สนับสนุนการลงทุนใน 25 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ เคมี เทคโนโลยีสารสนเทศ ยา สิ่งทอ ท่าเรือ การบิน เครื่องหนัง การท่องเที่ยว สุขภาพ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
อินเดียมีพื้นที่รวม 3,287,590 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก ขนาดใหญ่กว่าประเทศไทย 6 เท่า แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 29 รัฐ 7 อาณาเขต มีจำนวนประชากรในปี 2014 จำนวน 1.26 พันล้านคน โดยในปี 2020 คาดว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 1.36 พันล้านคน โดยรัฐอุตตรประเทศในภาคเหนือมีประชากรมากที่สุด สำหรับเมืองที่มีประชากรมากที่สุด คือมุมไบ และเดลี
สำหรับ FDI มูลค่าสะสมจากต่างประเทศปี 2000-2014 คิดเป็นมูลค่า 238,748 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมี มอรีเซียส สิงคโปร์ อังกฤษ และญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนหลัก คิดเป็นร้อยละ 35, 12, 9, 7 ตามลำดับ โดยมีการลงทุนในสาขาภาคบริการ การก่อสร้าง โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ และยาเวชภัณฑ์ เป็นสาขาการลงทุนหลัก ลงทุนในเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ มุมไบ เชนไน เดลี บังกาลอร์ อเมดาบัด และ กัลกัตตา ตามลำดับโดยมีสาขาอุตสาหกรรมที่สำคัญในแต่ละเมือง ดังนี้
-มุมไบ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมสิ่งทอ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร ปิโตรเคมี โลหะ เหล็ก พลาสติก ไวน์ ท่าเรือ (ใหญ่ที่สุดของอินเดีย) วิศวกรรม อัญมณี การเจียรนัย การรักษาพยาบาล และ IT (ส่งออก Software เป็นอันดับ 2 ของอินเดีย คิดเป็นร้อยละ 30 ของประเทศ)
-เชนไน ประกอบด้วยอุตสาหกรรมรถยนต์ (ร้อยละ 30 ของการผลิตในอินเดีย) IT และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับ IT เครื่องหนัง รองเท้า อัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาพยนตร์ การผลิตกระดาษจากชานอ้อย และการท่าเรือ
- เดลี ประกอบด้วย อุตสาหกรรม IT โทรคมนาคม โรมแรม ธนาคาร สื่อสาร และการท่องเที่ยว การก่อสร้างยานยนต์ เครื่องหนัง การบริการด้านสุขภาพ และอสังหาริมทรัพย์
- กัลกัตตา ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการถลุงเหล็ก ผลิตภัณฑ์เหล็ก และสินแร่ต่างๆ ยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สายไฟ เครื่องหนัง สิ่งทอ อัญมณี การต่อเรือ ตู้รถไฟ
นอกจากนี้ เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญและมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมของอินเดีย ในโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตกับไทย ได้แก่ มุมไบ เชนไน เดลี และกัลกัตตา ซึ่งทั้ง 4 เมืองอยู่ภายใต้การศึกษากลยุทธ์การสร้างความเชื่อมโยงด้านเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดียเพื่อรองรับการเชื่อมโยงในภูมิภาค ของ สศอ. โดยเฉพาะเชนไนและกัลกัตตา เป็นเมืองที่รัฐบาลอินเดียกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ภายใต้โครงการ Golden Quadrilateral ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยง โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายของเมียนมาไปยังเมือง เชนไนอีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจแม่โขง-อินเดีย
ผลการศึกษาพบว่า อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดียและ 4 เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ยางพารา และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์พบว่า ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ และตัวถังรถยนต์ทุกประเภทมีโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มและการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดียมากที่สุด สำหรับอุตสาหกรรมยางพารา ผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดียมากที่สุดคือ ยางแท่ง ยางแผ่นและล้อยางยานพาหนะ และสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์พบว่า เครื่องปรับอากาศ และคอมเพรสเซอร์ มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มและการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดียได้มากที่สุดตามลำดับ
สำหรับกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต ระหว่างไทยกับอินเดียในอุตสาหกรรม 3 กลุ่มไปยังอินเดีย และ 4 เมืองเศรษฐกิจมีดังนี้ อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ได้แก่ กลยุทธ์การรวมกลุ่มเชิงพาณิชย์สำหรับรถจักรยานยนต์เพื่อขายในตลาดอินเดียในงานแสดงสินค้า กลยุทธ์การร่วมกันผลิตระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของไทยที่มีศักยภาพและความพร้อมกับบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ชั้นนำในอินเดีย โดยนำร่องกับสินค้าแบนด์สากล (Brand to Brand) กลยุทธ์การผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ประเภท Premium Motorcycle ไปยังอินเดียทั้งในรูปแบบการส่งออกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ และร่วมทุนกับบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ในอินเดีย เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์ ได้แก่ กลยุทธ์สร้างพันธมิตรด้านยานยนต์ไทยและอินเดียด้วยการนำร่องจากหน่วยงานภาครัฐของไทยสู่อินเดียในการร่วมมือด้าน แบรนด์สินค้าสากล กลยุทธ์ทำตลาดส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ที่ไทยมีศักยภาพและอินเดียต้องนำเข้าจากต่างประเทศ กลยุทธ์ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิต (Transfer Know-how) ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ไทยมีศักยภาพให้แก่อินเดีย กลยุทธ์การตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในอินเดีย กลยุทธ์การดึงดูดการลงทุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อินเดีย
อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ กลยุทธ์การส่งเสริมผู้ประกอบการในการร่วมลงทุนกับอินเดียโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสมองกล (Embedded System) เนื่องจากอินเดียมีความเข้มแข็งและศักยภาพในอุตสาหกรรมซอฟ์แวร์และไทยมีความสามารถทางการผลิตสินค้าดังกล่าว สำหรับอุตสาหกรรมยางพารา ได้แก่ กลยุทธ์เพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติให้เป็นวัตถุดิบที่พร้อมสำหรับการผลิตล้อยางเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียเนื่องจากไทยมีวัตถุดิบยางธรรมชาติเป็นจำนวนมาก และอินเดียยังมีความต้องการสินค้ายางล้อรถยนต์ค่อนข้างสูง ประกอบกับมีความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในห่วงโซ่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางธรรมชาติด้วย โดยการขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดียในอุตสาหกรรม 3 กลุ่มนี้ ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น ควรมีการเชื่อมเครือข่ายการผลิตกับเมืองที่มีศักยภาพ ในแต่ละอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ได้แก่ เชนไน เป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านยานยนต์เหมาะสมที่สุด รองลงมาคือ มุมไบ เดลี และ กัลกัตตา อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เชนไน และอุตสาหกรรมยางพาราได้แก่ เชนไน และ มุมไบ
ที่ผ่านมา สศอ. ได้จัดการสัมมนาเรื่อง “Doing Business with India : โอกาสหรืออุปสรรคของผู้ประกอบการไทย” เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาของ สศอ. และเสวนาประสบการณ์ดำเนินธุรกิจและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยกับอินเดีย โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการและนักธุรกิจ จำนวนกว่า 500 คน ที่สนใจการดำเนินธุรกิจกับอุตสาหกรรมของอินเดียเข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว