เนื้อหาวันที่ : 2015-09-16 14:15:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 797 views

เผย

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า ในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูมรสุม และคาดการณ์กันว่าช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนอาจจะมีพายุหลายลูกเข้าสู่ประเทศไทย ดังนั้นทาง EGA จึงได้รวบรวมแอปพลิเคชันที่อยู่ใน GAC หรือศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนได้ดาวน์โหลดทั้งเพื่อการวางแผนส่วนตัว และการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ โดยใช้ชื่อว่า "6 แอปพลิเคชัน.. รักน้ำ รักษ์โลก” ซึ่งทั้งหมดสามารถทำงานเชื่อมโยงระหว่างกัน และทำให้การอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า ในประเทศไทยเกิดขึ้นได้

แอปพลิเคชันแรกคือ “Fonluang +” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเช็คข้อมูลโครงการฝนหลวงในพื้นที่ภัยแล้งขาดแคลนน้ำทางการเกษตร แอปพลิเคชันนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในแอปพลิเคชันมีส่วนประกอบ 5 ส่วน คือ

  1. รายงานสภาพอากาศประจำวัน และอุณหภูมิ ตามจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย
  2. แสดงข้อมูลพื้นที่ฝนตกทั่วประเทศไทย สามารถดูข้อมูลฝนตกสะสมจากเรดาร์ ย้อนหลังได้ 30 วัน
  3. รายงานพื้นที่ทำฝนหลวง หรือปฏิบัติการฝนหลวงประจำวัน และพื้นที่เป้าหมายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย สามารถดูข้อมูลการทำฝนหลวงย้อนหลังได้ 30 วัน
  4. แสดงข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศไทย และแสดงภาพจากกล้อง CCTV
  5. ข้อมูล ""เกี่ยวกับฝนหลวง"" แสดงข้อมูลประวัติความเป็นมา, พระราชกรณียกิจ, ตำราฝนหลวง, หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง, วีดิทัศน์ฝนหลวง, ศัพท์ฝนหลวง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งใจให้แอปพลิเคชันนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลทางเชิงวิชาการทางการเกษตรในรูปแบบใหม่ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจ และดูข้อมูลวิชาการดังกล่าวในรูปแบบที่ทันสมัย ตัวแอปพลิเคชันเข้ากันได้กับสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ทุกรุ่น

แอปพลิเคชันที่สองคือ “NHC” ซึ่งแอปพลิเคชันของ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แอปพลิเคชันนี้จะรายงานกระแสน้ำ ความแรงลมพายุ แสดงปริมาณระดับน้ำในเขื่อน ถือเป็นแอปพลิเคชันที่ดึงเอาคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ อันได้แก่ สภาพอากาศ ฝน ปริมาณระดับน้ำในเขื่อน โดยมีแผนที่วิเคราะห์เส้นทางและความแรงของพายุ มาใช้งาน ถือเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานประจำวันได้จริงและสอดคล้องกับแอปพลิเคชันแรกอย่างมาก แอปพลิเคชันนี้เข้ากันได้กับสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ทุกรุ่น

แอปพลิเคชันที่สามคือ “WMSC” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันของ กรมชลประทาน เพื่อเช็คความเร็วกระแสน้ำและปริมาณน้ำจากธรรมชาติในอ่างเก็บน้ำและข้อมูลน้ำฝน จัดเป็นเป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลข่าวสาร เพื่อการบริหารจัดการน้ำ อันได้แก่ ข้อมูลปริมาณน้ำท่า ข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลอัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำต่างๆ ข้อมูลปริมาณน้ำฝน รวมทั้งพื้นที่เพาะปลูกของกรมชลประทานเป็นต้น ซึ่งถือว่าเหมาะมากกับเกษตรกรหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำของกรมชลประทานในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถนำมาคำนวณช่วงเวลาน้ำแล้งและน้ำมากในฤดูที่แตกต่างกันได้ แอปพลิเคชันนี้เข้ากันได้กับ iPhone, iPod, iPad โดยต้องการระบบตั้งแต่ iOS 1.7.3 หรือใหม่กว่า

แอปพลิเคชันที่สี่คือ “Thai Weather” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันของกรมอุตุนิยมวิทยา ทำหน้าที่รายงานสภาพอากาศของประเทศไทย พยากรณ์อากาศล่วงหน้า, เส้นทางพายุ, รายงานแผนดินไหว,การเตือนภัยและสามารถรายงานสภาพอากาศด้วยรูปถ่ายของตัวคุณเอง การแจ้งข่าวสาร, สื่อเผยแพร่, เรดาร์สภาพอากาศ, ภาพถ่ายดาวเทียม, แผนที่อากาศ ถือเป็นแอปพลิเคชันพื้นฐานเพื่อตรวจสอบความถูกต้องกับแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตัวแอปพลิเคชันเข้ากันได้กับ iPhone, iPod, iPad ต้องการระบบ iOS 6.0.0 หรือใหม่กว่า

แอปพลิเคชันที่ห้าคือ “Eco Planet” โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แอปพลิเคชันนี้ เป็นเกมส์เพื่อจำลองทัศนคติการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้เล่นจะได้ทดลองใช้ชีวิตประจำวันด้านการเดินทาง การบริโภค การใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำ และการคัดแยกขยะ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เข้ากันได้กับ iPhone, iPod, iPad

แอปพลิเคชันสุดท้ายคือ “We Grow” ของมูลนิธิโครงการหลวง เป็นแอปพลิเคชันร่วมปลูกต้นไม้และแลกเปลี่ยนข้อมูลของต้นไม้ที่ปลูก เพื่อร่วมกิจกรรมสามารถแชร์กิจกรรม บนสังคมออนไลน์ผ่าน Facebook ได้จากแอปพลิเคชัน ช่วยส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยได้มีส่วนร่วมกับโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษาในปี 2558 ด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว และลดภาวะโลกร้อน ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศและทั่วโลก โดยผู้ปลูกสามารถใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อโพสต์ข้อมูลต้นไม้ที่ปลูก ร่วมแชร์และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ปลูกต้นไม้ และการสำรวจพันธุ์ไม้หายากเพื่อการอนุรักษ์ ตลอดจนการเรียนรู้วิธีการปลูก การดูแลรักษาต้นไม้แต่ละสายพันธุ์ และการติดตามสถิติการปลูกต้นไม้ และปริมาณกักเก็บคาร์บอน ภายใต้โครงการฯ แอปพลิเคชันนี้เข้ากันได้กับ iPhone, iPod, iPad ต้องการ iOS 6.1.0 หรือใหม่กว่า

สำหรับ Government Application Center : GAC หรือศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ คือแอปพลิเคชันที่รวบรวมแอปพลิเคชันต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐไว้ด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถค้นหาแอปพลิเคชันและดาวน์โหลดลงบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็วจาก 11 หมวดหมู่บริการ เช่น หมวดสุขภาพ หมวดการเดินทาง หมวดการศึกษา โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) หรือ อีจีเอ เป็นผู้ประสานงานจัดการเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำเสนอแอปพลิเคชันแก่ประชาชนผ่าน GAC โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://apps.go.th