คำว่า พยากรณ์อากาศ กับ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นั้น ความจริงแล้วมีความแตกต่างกันอยู่มากซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้
คำว่า “พยากรณ์อากาศ กับ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” นั้น ความจริงแล้วมีความแตกต่างกันอยู่มากซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ และด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อความแม่นยำ ประกอบกับในระยะหลังมานี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรุนแรงและภาวะโลกที่ร้อนขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่ฤดูกาลแปรปรวน ฝนแล้ง และร้อนจัด จะดีหรือไม่หากเราสามารถคาดการณ์ปรากฏการณ์ล่วงหน้าได้อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อวางแผนรับมือกับสถานการณ์ภัยที่อาจจะเกิดขึ้น โครงการวิจัย Investigating land-ocean-atmosphenc interaction processes and mechanisms to enhance understanding of climate variability and impacts in tropical Southeast Asia โดยกลุ่มอาจารย์จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) และคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นโครงการที่ได้รับการคัดเลือกโปรแกรมวิจัย 1 ใน 4 คลัสเตอร์วิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาเครือข่ายวิจัยนานาชาติ(International Research Network หรือ IRN) ประจำปี 2557 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยโครงการวิจัยดังกล่าวเพื่อทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่าง พื้นดิน ทะเลหรือมหาสมุทร และอากาศ ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Southeast Asia เพราะจะเป็นตัวกำหนดสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยว่าจะเป็นอย่างไร
รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง อาจารย์จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า จุดประสงค์หลักของงานวิจัยนี้ เพื่อที่จะทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพื้นดิน น้ำ อากาศบริเวณรอบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศไทยอย่างไร เพราะองค์ความรู้ในประเทศยังขาดอยู่มากเกี่ยวกับปัจจัยในเชิงพื้นที่ที่บ่งบอกได้ชัดเจนว่าสภาพภูมิอากาศของไทยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงนั้นเกิดจากสาเหตุหลักอะไรบ้าง ที่ผ่านมาเราใช้รายงานการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ซึ่งเป็นภาพรวมที่ใหญ่มากและหลายปัจจัยนั้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับไทย ทำให้หลายครั้งที่ถูกนำมาอธิบายปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศเฉพาะของไทยทำให้ขาดความแม่นยำ
รศ.ดร.อำนาจ อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีความแตกต่างจากการพยากรณ์ที่จะดูสภาพอากาศเพียง 1 - 7 วัน แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีปัจจัยที่ต้องศึกษามากกว่า ทั้งระยะเวลาที่ยาวกว่าและเรื่องของปรากฏการณ์ที่รุนแรงกว่า อาทิ อากาศที่ร้อนจัด หรือ กรณีฝนแล้ง เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน และการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกนั้นมีความรุนแรง มีความถี่ และตำแหน่งการเกิด เช่นทิศทางแนวการวิ่งของพายุเป็นอย่างไร เพื่อนำไปสู่การหามาตรการรับมือในเชิงนโยบายต่อไป เช่น กรณีการเกิดมรสุมของไทยจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอะไรบ้างและสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของมรสุมจะส่งผลกระทบกับอะไร หรือในกรณีปริมาณฝนที่แปรปรวนอยู่ขณะนี้เกิดขึ้นจากอะไรและอุณหภูมิที่ขึ้นลงมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของไทยอย่างไรนั้น ซึ่งเป็นคำถามพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่เราอยากจะค้นหาคำตอบ แต่ที่ผ่านมาองค์ความรู้เรื่องสภาพภูมิอากาศเหล่านี้ ยังมีอยู่อย่างจำกัด ประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาเองเพื่อให้สามารถอธิบายและคาดการณ์ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของไทยให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในด้านต่างๆมากมาย
“ เช่น กรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้การบริหารจัดการน้ำได้ดีขึ้น หากเราสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าปีนี้ฝนจะแห้งหรือตกไม่ตรงตามฤดูกาล เราก็จะสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ว่า ในอีกระยะ 6 เดือนข้างหน้า ฝนจะตกน้อยมาก ก็ต้องหาวิธีการรับมือหรือจัดการอย่างไร แม้แต่ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็จะได้เตรียมหาวิธีรับมือได้ก่อนล่วงหน้า ไปจนถึงภาคการส่งออก ธุรกิจประกันภัย ประกันราคาพืชผล และประกันความเสียหายจากภัยพิบัติ ล้วนได้รับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแทบทั้งสิ้น ดังนั้น หากเราสามารถเข้าใจต้นเหตุที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้มากมาย”
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.อำนาจ ยอมรับว่า การศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นเรื่องใหม่และเป็นเรื่องยาก ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรที่ทางด้านนี้ โดยเฉพาะในระดับปริญญาเอก ดังนั้น ทุน IRN ซึ่งเป็นทุนที่ สกว.จัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อสนองนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ จะเข้ามาช่วยเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้นในรูปแบบของกลุ่มเครือข่าย โดยมีนักศึกษาทั้งระดับปริญญาเอก และ Post Doc (Postdoctoral researcher) ทั้งสิ้น 9 คน ซึ่งหากใครสนใจอยากสมัครมาร่วมทีมงานวิจัยในลักษณะนี้ สามารถติดต่อมาที่ รศ.ดร.อำนาจ ได้โดยตรง (amnat_c@jgsee.kmutt.ac.th) โดยเฉพาะทุน Post doc ยังมีทุนให้อีกหลายทุน ทางโครงการคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อนักศึกษาจบออกไป จะเป็นกำลังสำคัญให้กับสังคมและประเทศชาติต่อไป