นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านเสียงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า เตรียมสำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณเขตแนวเส้นเสียง (Noise Exposure forecast :NEF) เพิ่ม เพื่อดำเนินการประเมินการจ่ายค่าชดเชย หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน (ทอท.) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ การสำรวจเพิ่มทำในอาคารและสิ่งปลูกสร้างบริเวณพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการบินลงทางทิศใต้ใช้ทางวิ่งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกอัตราส่วน 80:20 และให้มีการอนุมัติงบประมาณประเมินราคาซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในเขต NEF 40 ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบในเขต NEF 30-40 ให้ ทอท.เป็นผู้จ่ายเงินชดเชย เพื่อให้ดำเนินการเองโดยไม่มีการหักค่าเสื่อมราคา และให้บวกค่าการตลาดร้อยละ 10 - 20 |
. |
สำหรับบ้านที่ไม่ใช่หมู่บ้านจัดสรร และร้อยละ 20 - 30 สำหรับบ้านจัดสรร และหากมีความประสงค์ที่จะขายสิ่งปลูกสร้างให้ ทอท.ก็จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ทั้งนี้ การสำรวจเขตเส้นเสียงใช้การประเมินจากอัตราเที่ยวบินสูงสุด 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ส่วนการย้ายการให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศไปยังท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น ไม่ได้ทำให้อัตราความดังของเสียงลดลงมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่สายการบินที่ลงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังคงเป็นสายการบินต่างประเทศและลงจอดในเวลากลางคืน แต่สายบินที่ลงที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นสายการบินในประเทศและลงในช่วงเวลากลางวัน และจากการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษ เรื่องเสียงที่ท่าอากาศยานดอนเมืองพบว่า มีอัตราความดังเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 - 2 เดซิเบลเท่านั้น. |
. |
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ |