สศอ. ชี้ภาพรวมโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยยังมีจุดอ่อนด้านผลิตภาพจากสาเหตุหลายประการ ทั้งผลิตภาพแรงงาน โครงสร้างทางเทคโนโลยี และนวัตกรรม จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการเพิ่มผลิตภาพทุกภาคส่วน เร่งจัดทำแผนแม่บทประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ปี 2559-2564 หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนที่แท้จริง
สศอ. ชี้ภาพรวมโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยยังมีจุดอ่อนด้านผลิตภาพจากสาเหตุหลายประการ ทั้งผลิตภาพแรงงาน โครงสร้างทางเทคโนโลยี และนวัตกรรม จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการเพิ่มผลิตภาพทุกภาคส่วน เร่งจัดทำแผนแม่บทประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ปี 2559-2564 หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนที่แท้จริง นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาโครงสร้างสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยได้แปรเปลี่ยนไปเป็นสินค้าประเภทที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นมากกว่าสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นทำให้ไทยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือโดยเฉพาะวิศวกรและ นักวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก เช่น การขาดแคลนวัตถุดิบและการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยเริ่มลดลง
แม้ว่าประเทศไทยยังคงมีรากฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งแต่กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการปรับตัวของโครงสร้างสินค้าส่งออกไปสู่สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีของไทยยังมีความล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับแรงกดดันจากหลายทิศทาง ประเทศไทยจึงต้องมีการปรับตัวด้านการเพิ่มผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี โดยในช่วงปี พ.ศ. 2525-2548 มีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 8.13 แต่ปัจจัยทางด้านผลิตภาพการผลิต ซึ่งดูจากค่า TFP (Total Factor Productivity) นั้นสามารถสนับสนุนการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมได้เพียงร้อยละ 0.57 นอกจากนี้จากการ จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ IMD ปี พ.ศ. 2548 พบว่า ประเทศไทยมีจุดอ่อนที่สำคัญ 2 ประการคือ ผลิตภาพแรงงานและประสิทธิภาพของ SMEs ปัจจัยทั้งสองตัวนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภาพและการเจริญเติบโตของประเทศในระยะยาว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมยังมีจุดอ่อน ในด้านคุณภาพและโครงสร้างหลายประการทั้งด้านการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน การสนับสนุนโครงสร้างทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สถานภาพผลิตภาพของประเทศไทยในปัจจุบันจากการศึกษาของ IMD ปี พ.ศ. 2558 อันดับผลิตภาพของประเทศไทย ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดีนัก โดยอันดับผลิตภาพของไทยโดยรวมอยู่ในอันดับที่ 55 จาก 61 ประเทศ และผลิตภาพอุตสาหกรรมอยู่ในอันดับที่ 51 นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในหมวดโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอยู่ในลำดับที่ 44 และด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อยู่ในลำดับที่ 47 ประกอบกับการมีปัจจัยและความท้าทายใหม่ๆ ที่ประเทศไทยและภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญ อาทิ สังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาเข้าสู่สังคมเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนั้น ยังพบว่าแนวโน้มของระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน กำลังจะกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม เป็นระบบที่มีการผลิตและให้บริการที่เน้นการคิดค้นสินค้าและบริการใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยระดับโลก การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีความจำเป็นต้องมีแนวทางในการรองรับแนวโน้มดังกล่าว และการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ ยังคงเป็นทางออกที่สำคัญในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต การเพิ่มผลิตภาพยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริงที่ยั่งยืนอีกด้วย ในขณะที่ ขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากความได้เปรียบด้านอื่นๆ เช่น ความได้เปรียบทางภาษี ความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานต่ำ ความได้เปรียบจากข้อตกลงทางการค้าต่างๆ จะไม่มีความยั่งยืนเช่นเดียวกับผลิตภาพการผลิต กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีแนวคิดที่จะเพิ่มผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมด้วยการจัดทำแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม พ.ศ. 2559-2564 เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเศรษฐกิจโลก โดยยึด 3 ปัจจัยหลักคือ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
โดยในแผนฯ มีเป้าประสงค์ของแผนแม่บท 4 ประการ คือ
1) ผลิตภาพรวม (TPE) มีอัตราการเติบโต ร้อยละ 3 ต่อปี
2) ผลิตภาพแรงงานมีอัตราการเติบโตร้อยละ 5 ต่อปี
3) มีระดับความสำเร็จของกลุ่มเครือข่าย
4) อัตราความพึงพอใจเฉลี่ยต่อบริการภาครัฐมากว่าร้อยละ 80 ซึ่งขณะนี้ร่างแผนแม่บทฯ ดังกล่าวคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบในหลักการแล้ว