เนื้อหาวันที่ : 2014-10-24 12:06:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2532 views

บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ นำพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลต่อยอดสู่พลังงานทดแทน

ก.ล.ต.ไฟเขียวขายหุ้น IPO บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ จำนวน 169,182,500 หุ้น ด้านผู้บริหารประกาศนำพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลต่อยอดสู่พลังงานทดแทน

ก.ล.ต.อนุมัติแบบคำขอกระจายหุ้น “บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์” เตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 169,182,500 หุ้น ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนนี้ ด้านผู้บริหารระบุมุ่งให้ความสำคัญด้านคุณภาพผลผลิตอ้อย เพื่อสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบผลิตน้ำตาลทรายและนำผลพลอยได้จากการผลิตต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสู่พลังงานทดแทน หวังสร้างการเติบโตแบบยั่งยืน

นายคมกฤต มีคำสัตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า หลังจาก บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (แบบไฟลิ่ง) และยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุมัติแบบคำขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต. เพื่อขอเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 169,182,500 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน บริษัทจะมีทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้วจำนวน 676,750,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท

บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย เช่น กากอ้อย และกากหม้อกรองไปต่อยอดทางธุรกิจอย่างครบวงจร ผ่านการดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อย 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด บริษัท ปุ๋ยตรากุญแจ จำกัด บริษัท บุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์ เพาเวอร์ จำกัด

หลังจาก ก.ล.ต. อนุมัติแบบคำขอแล้ว ที่ปรึกษาทางการเงินและบริษัทฯ จะกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเชื่อว่า ด้วยพื้นฐานและประสบการณ์การดำเนินธุรกิจน้ำตาลทรายที่มุ่งพัฒนาคุณภาพผลผลิตน้ำตาลทราย และนำผลพลอยได้มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้แก่ธุรกิจ โดยมุ่งเน้นไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ของ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งจะทำให้หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างแน่นอน” นายคมกฤต กล่าว

ด้านนายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีประสบการณ์ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากว่า 50 ปี โดยดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายทั้งในและต่างประเทศและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจอย่างครบวงจร ภายใต้นโยบายมุ่งพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจน้ำตาลทราย เพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุด โดยนำกากอ้อยไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าชีวมวล ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีภายใต้แบรนด์ ปุ๋ยตรากุญแจ เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญคุณภาพผลผลิตอ้อย โดยส่งเสริมพัฒนาให้ความรู้ชาวไร่อ้อย การคัดเลือกพันธุ์อ้อยและปุ๋ยที่เหมาะสมต่อพื้นที่ ตลอดจนนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยจัดการแปลงเพาะปลูกส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 105 กิโลกรัมเป็น 118 กิโลกรัม นับเป็นผลผลิตที่สูงเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทยเมื่อเปรียบเทียบตามกลุ่มผู้ผลิต โดยฤดูการผลิตปี 56/57 ที่ผ่านมา มีผลผลิตอ้อยเข้าหีบ 1.77 ล้านตันอ้อย ผลิตเป็นน้ำตาลทรายส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ 208,800 ตัน และในฤดูการหีบอ้อยปีนี้ โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์สามารถรองรับผลผลิตเข้าหีบได้เป็น 2 หมื่นตันต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณอ้อย 2 ล้านตันเศษ ซึ่งส่งผลดีต่อการผลิตน้ำตาลทรายได้เพิ่มขึ้น

ประธานกรรมการบริหาร บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนนำผลพลอยได้จากกระบวนการหีบอ้อยที่เพิ่มขึ้นต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าชีวมวลภายใต้แนวคิด ‘พลังงานไฟฟ้าเพื่อชุมชนและสังคม’ โดยบริษัทฯ มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อยแห่งที่ 2 กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ให้ กฟภ.ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 1 แห่ง กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ไปแล้วตั้งแต่พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา

ส่วนกากหม้อกรองที่เกิดจากผลพลอยได้กระบวนการผลิตน้ำตาลทรายเช่นกัน จะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพเหมาะสมต่อการเพาะปลูกอ้อย โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 30,000 ตันต่อปี ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ปุ๋ยตรากุญแจ จำกัด อีกด้วย

เราถือเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลทรายในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยประสบการณ์ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายในภูมิภาคนี้มากว่า 50 ปี โดยเรามุ่งเน้นการพัฒนาสายการผลิตต่างๆ ให้มีความแข็งแกร่งอย่างครบวงจร โดยเฉพาะปรัชญาการทำงานของเราที่เชื่อว่า ‘น้ำตาลสร้างในไร่’ เราจึงเน้นส่งเสริมพัฒนาให้ความรู้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในการเพาะปลูก ตลอดจนการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการจัดการแปลงอ้อยเพื่อให้ได้อ้อยที่มีคุณภาพเพื่อนำไปผลิตน้ำตาลทราย ซึ่งช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและการสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลให้ธุรกิจของเราและชาวไร่อ้อยเติบโตอย่างยั่งยืน” นายอนันต์ กล่าว