ก.พลังงาน เห็นชอบลงนามซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวม 18 โครงการ 53.06 เมกะวัตต์
ก.พลังงาน เห็นชอบลงนามซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ Adder รวม 18 โครงการ รวม 53.06 เมกะวัตต์ พร้อมปรับปรุงหลักเกณฑ์และขั้นตอนการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าให้เป็บแบบ One Stop Service เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 ว่า ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบให้มีการปรับปรุงขั้นตอนการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เป็นรูปแบบ One Stop Service เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ตามที่ กพช.กำหนด และลดขั้นตอนการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
โดยหลักเกณฑ์ และขั้นตอนในการพิจารณาตอบรับซื้อไฟฟ้า คณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่พิจารณาตอบรับซื้อไฟฟ้าตามที่ 3 การไฟฟ้ายื่นเข้ามา ทั้งนี้ได้มีการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือ 1.การพิจารณาต้องเป็นไปตามกรอบเป้าหมายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามที่ กพช.เห็นชอบ และอยู่ในเป้าหมายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าที่ กพช. ประกาศในแต่ละปี และสอดคล้องกับศักยภาพรายพื้นที่ (Zoning) 2.กรณีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ต้องมีแนวทางการบริหารจัดการการกำจัดแผงและอุปกรณ์ที่หมดอายุการใช้งาน ภายหลังการสิ้นสุดโครงการด้วย 3.กรณีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม การตอบรับซื้อไฟฟ้า จะพิจารณาจากกำลังผลิตติดตั้ง ตามพิกัดของแผงเซลล์แสงอาทิตย์หรือกังหันลม แล้วแต่กรณี
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้มีการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากพลังงานหมุนเวียนระหว่างภาคเอกชน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จำนวน 18 โครงการ โดยมีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายรวมทั้งสิ้น 53.06 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นเป็นชีวมวล 5 โครงการ รวม 36.08 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 12 โครงการ รวม 16.08 เมกะวัตต์ และขยะ 1 โครงการ 0.9 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 18 โครงการนี้ ได้มีการยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอขายไฟฟ้าในรูปแบบ Adder และมีการเห็นชอบให้ตอบรับการรับซื้อไฟฟ้าไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ติดปัญหาความไม่สงบของบ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมคณะกรรรมการฯ ได้ และที่สำคัญ โครงการพลังงานหมุนเวียนทั้ง 18 โครงการ ใกล้ครบกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ไว้แล้วจึงต้องเร่งพิจารณาเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินงานได้ต่อไป โดยให้การไฟฟ้าทั้ง 3 การ สามารถไปพิจารณาขยายระยะกำหนดเวลาจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของแต่ละโครงการดังกล่าว ได้ตามความจำเป็น แต่ต้องไม่เกิน 6 เดือนจากกำหนดที่เสนอไว้เดิม