กระทรวงการคลังก็ยังคงสิทธิในความเป็นเจ้าของเช่นเดิม ซึ่งบริษัทที่ตั้งใหม่ต้องทำสัญญาให้ใช้ฯ กับรัฐเช่นกัน
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวชี้แจงว่า แม้มีการแยกธุรกิจท่อส่งก๊าซฯ ออกมาเป็นบริษัทใหม่ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557
แต่ ปตท. ตระหนักดีว่า ระบบท่อส่งก๊าซฯ ในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามที่ ปตท. ได้มีการแบ่งแยกคืนให้กับกระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเรียบร้อยแล้ว โดยอนาคตบริษัทท่อใหม่จะเป็นผู้ทำสัญญาขอใช้ทรัพย์สินของรัฐ พร้อมทั้งจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ต่อไป เพื่อสร้างรายได้ให้แก่รัฐ เช่นที่ ปตท. ปฏิบัติตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตามรายละเอียด ดังนี้
1. การโอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและอำนาจมหาชนไปที่ บมจ.ปตท. ในช่วงการแปรรูป ปตท. นั้น ได้รับการแก้ไขโดยพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแล ดังนั้น บมจ.ปตท. จึงไม่มีอำนาจมหาชนใดๆ เหลืออยู่ อีกทั้ง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ บมจ.ปตท. ต้องคืนทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจาก การใช้อำนาจมหาชนของรัฐ เวนคืน/รอนสิทธิเหนือที่ดินของเอกชน และ การใช้เงินลงทุนของรัฐ (การปิโตรเลียมฯ) โดยทรัพย์สินส่วนนี้ ปตท. ได้ดำเนินการโอนคืนให้ภาครัฐตั้งแต่ปี 2551 โดยไม่รวมถึงท่อในทะเล ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีบันทึกยืนยันว่า ปตท. คืนทรัพย์สินตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว โดยในส่วนทรัพย์สินที่ส่งมอบให้กรมธนารักษ์นั้น ปตท. ได้ทำสัญญาให้ใช้ฯ โดยได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรมธนารักษ์
ส่วนทรัพย์สินอื่น ศาลวินิจฉัยว่า บมจ.ปตท. เป็นเจ้าของทั้งนี้ตาม พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 นอกจากนี้ ในปี 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ ปตท. คืนท่อในทะเล ปรากฏว่าศาลฯ ไม่รับคำฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบไป
2. ท่อส่งก๊าซฯ ที่ บมจ.ปตท. จะโอนไปยังบริษัทท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 15 สิงหาคม 2557 นั้น เป็นทรัพย์สินเฉพาะในส่วนที่ บมจ.ปตท.เป็นเจ้าของเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินที่เป็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และ ปตท. ได้แบ่งแยกคืนให้กับกระทรวงการคลังตามคำพิพากษาแล้วนั้น บริษัทท่อใหม่จะต้องไปทำสัญญาใช้ทรัพย์สินดังกล่าว โดยจ่ายค่าตอบแทนให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังต่อไป
3. นโยบายของ คสช. ด้านพลังงาน คือการปฏิรูปพลังงาน มิใช่การแปรรูป ปตท. ครั้งที่ 2 เพื่อสร้างธุรกิจเสรีอย่างแท้จริง ลดความกังวลเรื่องการผูกขาด ซึ่งการแยกบริษัทท่อฯ ออกมา จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้บริการขนส่งก๊าซทางท่อได้อย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้การกำกับดูแลจากองค์กรกำกับกิจการของรัฐ (Regulator) ในอัตราค่าใช้บริการที่เหมาะสมเป็นธรรม
“การโอนทรัพย์สินไปยังบริษัทท่อส่งก๊าซใหม่ จะเป็นการโอนทรัพย์สินในส่วนที่ ปตท. เป็นเจ้าของในปัจจุบัน แต่ทรัพย์สินในส่วนที่รัฐเป็นเจ้าของ กระทรวงการคลังก็ยังคงสิทธิในความเป็นเจ้าของเช่นเดิม ซึ่งบริษัทที่ตั้งใหม่ต้องทำสัญญาให้ใช้ฯ กับรัฐเช่นกัน” นายไพรินทร์ กล่าวยืนยันในตอนท้าย