กรีนพีซเชื่อว่าการพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสานที่กระบี่เป็นทางออกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
กรีนพีซเผยรายงาน “กระบี่บนทางแพร่ง : ถ่านหินสกปรก หรือ ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด” ระบุถ่านหินไม่ใช่คำตอบของความมั่นคงทางพลังงาน เสนอระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์และผสมผสานเป็นทางออกที่ไม่ทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่น ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืนต่ออนาคตพลังงานกระบี่และของประเทศไทย
“ทิศทางพลังงานของประเทศไทยกำลังเดินมาถึงทางแยกที่สำคัญ ประชาชนกำลังจับตามองการตัดสินใจของผู้นำประเทศว่าจะทำอนาคตพลังงานไปในทิศทางใด ระหว่างยึดติดกับเชื้อเพลิงถ่านหินที่สกปรกหรือพัฒนาไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัย” นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “การเสนอแผนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินที่กระบี่ที่นั้นเป็นการเลือกที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง”
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิต 870 เมกะวัตต์ เป็นโครงการภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2010 ปรับปรุงครั้งที่ 3) ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บนพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่มีอยู่เดิมในตำบลปกาสัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งปัจจุบันผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำมันเตา ในขณะนี้โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่านหินอยู่ในระหว่างกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยมีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2558 และเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2562
“ประโยชน์โดยรวมที่จะเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างขึ้นที่กระบี่ ไม่มีทางที่จะมาชดเชยความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิตและการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ได้เลย กระบี่นอกจากจะเป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลของภูมิภาคแล้ว ยังเป็นแหล่งชีวิตความเป็นอยู่และแหล่งรายได้ของคนในท้องถิ่น มูลค่าการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศบริเวณปากแม่น้ำกระบี่ (1) เพื่อการสันทนาการและการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวอยู่ที่ 9.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 311 ล้านบาท) ต่อปี โดยข้อมูลดังกล่าวยังไม่รวมผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การทำเกษตรกรรม การเพาะเลี้ยงชายฝั่งและการประมง” นายธารา กล่าวเพิ่มเติม
รายงาน “กระบี่บนทางแพร่ง : ถ่านหินสกปรก หรือ ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด” อธิบายถึงแผนการของรัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อขยายโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่แม้ว่ากระบวนการจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้นประสบความล้มเหลว และทั้งๆที่จังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ รายงานยังระบุถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่น ผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าของจังหวัดกระบี่ ความล้มเหลวของการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่สำคัญ รายงานได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายด้านทางออกระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์และผสมผสาน (decentralized Hybrid Renewable Energy System) (2)
“จังหวัดกระบี่มีศักยภาพในการเป็นต้นแบบและเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนของประเทศ โดยสามารถพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์และผสมผสานจากศักยภาพพลังงานที่มีในท้องถิ่น เช่น ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ แสงอาทิตย์และลม” ผศ. ดร. จอมภพ แววศักดิ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านพลังงานลมและแสงอาทิตย์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง กล่าว
“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ริเริ่มนโยบายสนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีโครงการมากมายที่สนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ทำให้ดึงดูดนักลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากนักลงทุนสามารถเห็นสภาวะที่คาดการณ์ได้ในการขายไฟฟ้าให้แก่ภาครัฐ การริเริ่มดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขยายให้เกิดการลงทุนในวงกว้าง และภาครัฐควรให้การส่งเสริม” ผศ.ดร. จอมภพกล่าวเสริม
กรีนพีซเชื่อว่าการพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสานที่กระบี่เป็นทางออกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทั้งการปกป้องสภาพภูมิอากาศ ตอบสนองความต้องการไฟฟ้าในพื้นที่ ปกป้องสุขภาพของประชาชน การประมง และการเกษตร ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างความเป็นธรรมทางพลังงาน และให้โอกาสในการขยายตัวของการลงทุนของภาคธุรกิจไทย ไม่ใช่การพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินที่ไม่ปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ไม่ก่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ
กรีนพีซยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและรัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ เพื่อรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำที่เปราะบาง และระบบนิเวศวิทยาทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์ที่ซึ่งประชาชนนับล้านคนพึ่งพาอาศัยทรัพยากรอันมีค่านี้
- รัฐบาลดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงานปี 2554-2573 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2555-2564 และเพื่อเป็นการสนับสนุนแผนทั้งสองนี้ควรพิจารณาวางกลไกที่ละเอียดรอบคอบเช่น ร่างกฎหมายพลังงานหมุนเวียน
- รัฐบาลควรมุ่งไปที่การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัยในจังหวัดกระบี่ ภาครัฐและกฟผ.ในจังหวัดกระบี่สามารถดำเนินการตามแผน 5 ขั้นตอน นั่นคือ 1) ประเมินทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน 2) ประมาณความต้องการใช้ไฟฟ้า 3) กำหนดสัดส่วนแหล่งกำเนิดไฟฟ้า 4) ออกแบบเครือข่าย และ 5) พิจารณาระบบควบคุมเพื่อนำพลังงานหมุนเวียนมาเพื่อประชาชน