นายกสมาคมฯ ฟันธงว่า ตลาดจะขยายตัวได้ดีกว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) ประเมินภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศในช่วงไตรมาส 2 พบว่า ปริมาณความต้องการสร้างบ้านหลังใหม่และกำลังซื้ออยู่ในภาวะทรงตัว หรือเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ โดยเมื่อสำรวจข้อมูลแยกตามภูมิภาคก็พบว่า มูลค่าตลาดรับสร้างบ้านภาคกลางมีการขยายตัวมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคอีสาน ภาคเหนือ ขณะที่มูลค่าตลาดภาคใต้และกรุงเทพฯ ชะลอตัวหรือขยายตัวอยู่ในอันดับร้้งท้ายเช่นเดียวกับไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี ในช่วงท้ายไตรมาส 2 พบว่าปริมาณและมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มปรับตัวได้ดีกว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่าผู้บริโภคเริ่มคลายกังวล กับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและถือว่าตลาดเริ่มมีสัญญาณบวกที่ดี กอปรกับผู้ประกอบการเองก็เริ่มโหมกิจกรรมทางการตลาด ทั้งลดทั้งแถมในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาส 2 จึงทำให้สามารถกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา
ภาพรวมของการแข่งขันของกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำหรือกลุ่ม Top 5 สมาคมฯ พบว่ามีการใช้สื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์ ทีวี สื่อกลางแจ้งและสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาสสอง สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการรับสร้างบ้านกลุ่มผู้นำก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้น จึงเริ่มจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นการรับรู้กับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายก่อนคู่แข่งรายอื่นๆ ในขณะที่ภาพรวมบรรยากาศการแข่งขันของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายเล็กรายกลางทั่วๆ ไปยังดูซึมๆ”
มูลค่าตลาดรับสร้างบ้าน 6 เดือนแรก
สมาคมฯ ประเมินมูลค่าตลาด “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา เฉพาะกลุ่มระดับราคาค่าก่อสร้างหน่วยละ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป คาดว่ามีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 3-3.5 หมื่นล้านบาท โดยประเมินว่าตลาดรับสร้างบ้านหรือ “กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน” ที่เป็นมืออาชีพและแข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้จำนวนกว่า 120 รายทั่วประเทศ น่าจะมีแชร์ส่วนแบ่งครึ่งปีแรกประมาณร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6-7 พันล้านบาท โดยส่วนแบ่งตลาดอีกร้อยละ 80 ยังตกเป็นของผู้รับเหมาท้องถิ่นและผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป เหตุผลก็เพราะว่า ผู้บริโภคสะดวกที่จะติดต่อและใช้บริการกับผู้รับเหมาที่อยู่ในพื้นที่มากกว่า ทั้งนี้เพราะว่าผู้ประกอบการสร้างบ้านจำนวนกว่าร้อยละ 60 หรือประมาณ 70-80 ราย มีสำนักงานตั้งอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถขยายการให้บริการสร้างบ้านในพื้นที่ต่างจังหวัดได้ ในขณะที่อีก 70 จังหวัดทั่วประเทศ (นอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล) มีบริษัทรับสร้างบ้านมืออาชีพเปิดดำเนินการในสัดส่วนที่น้อยกว่าหรือเพียง 40-50 รายเท่านั้น
ข้อมูลดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ขนาดตลาด “รับสร้างบ้าน” ไม่เติบโตเท่าที่ควร ดังนั้น ภารกิจหลักของสมาคมฯ ก็คือ การมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ ให้สามารถขยายบริการรับสร้างบ้านออกไปในต่างจังหวัดหรือครอบคลุมทั่วประเทศมากที่สุด เพื่อจะผลักดันให้มูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านขยายและเติบโตกว่าที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะก่อนที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (Asean Economic Community: AEC)
แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ จากภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในช่วงท้ายไตรมาส 2 ที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวและผู้ประกอบการเองก็มีความเชื่อมั่นที่จะรุกทำการตลาดมากขึ้น กอปรกับสถานการณ์ทางการเมืองก็อยู่ในความสงบและยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จึงเชื่อได้ว่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายกลับสู่ภาวะปกติ ฉะนั้น กำลังซื้อหรือความต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ ในช่วงครึ่งปีหลังก็น่าจะกลับมาเติบโตได้ดี ด้วยเหตุผลคือ 1.กำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่อั้นมานาน 2.ผู้ประกอบการเร่งทำกิจกรรมการตลาดกระตุ้นกำลังซื้อกันมากขึ้น 3.วัสดุก่อสร้างและราคาบ้านยังไม่มีการปรับราคาในครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ทั้ง 3 ปัจจัยถือเป็นโอกาสดีทั้งของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดในรอบ 9 เดือน ก่อนที่ต้นทุนก่อสร้างและราคาบ้านคาดว่าจะมีการปรับราคาขึ้นอีกครั้ง เมื่อภาพรวมงานก่อสร้างอาคารและสาธารณูปโภคต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งในช่วงต้นปีหน้าโดยสมาคมฯ ประเมินว่าตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 7-8 พันล้านบาท
นายกฯ ชี้แนะการปรับตัว
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ให้ความเห็นว่า ยังมีปัจจัยลบที่กลุ่มผู้ประกอบการหรือบริษัทรับสร้างบ้านต้องแบกรับความเสี่ยงอยู่คือ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการแต่ละรายรับงานสร้างบ้านได้จำนวนจำกัด เพราะมิฉะนั้นจะเผชิญกับปัญหางานก่อสร้างล่าช้าและผิดสัญญากับลูกค้า อย่างไรก็ดี จะเห็นว่ามีการปรับตัวของผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านในระยะ 1-2 ปีนี้ และจะเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงทิศทางการแข่งขันในอนาคตว่า “ธุรกิจรับสร้างบ้านหรืออุตสาหกรรมบริการสร้างบ้าน”ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็น SMEs มีแนวโน้มจะเปลี่ยนสู่ “อุตสาหกรรมการผลิตบ้าน”ที่แข่งขันและครองตลาดโดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้ก็เป็นได้ ด้วยเพราะประเทศไทยเราประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานหนักขึ้นเรื่อยๆ เฉกเช่นเดียวกับประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศที่เคยเผชิญปัญหามาก่อนหน้านี้
ดังจะเห็นว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำหรือรายใหญ่ เริ่มหันมาพัฒนาระบบการก่อสร้างบ้านโครงสร้างสำเร็จรูปหรือพรีคาสท์มากขึ้น ซึ่งมีทั้งตั้งโรงงานผลิตเองและจับมือกับพันธมิตรธุรกิจร่วมกันผลิตขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานจำนวนมาก ขณะที่รายเล็กรายกลางที่ไม่สามารถพัฒนาสู่ระบบก่อสร้างสำเร็จรูปได้ ก็จำเป็นต้องลดปริมาณรับงานสร้างบ้านให้น้อยลง แต่จะหันมาเจาะกลุ่มตลาดที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น เช่น เน้นดีไซน์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่มีความต้องการเฉพาะ เน้นการสร้างบ้านหลังใหญ่มากขึ้น ฯลฯ เป็นต้น
สำหรับ แนวโน้มปริมาณและมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 3 นายสิทธิพร นายกสมาคมฯ ฟันธงว่า ตลาดจะขยายตัวได้ดีกว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยเฉพาะหากว่าผู้ประกอบการช่วยกันกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคมากขึ้นในระยะนี้ ซึ่งสมาคมฯ เห็นว่ามีกำลังซื้อผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่อั้นมานาน จากความกังวลกับสถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมา รวมถึงต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างก็น่าจะยังไม่มีการขยับปรับตัวในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ถือเป็นปัจจัยบวกที่ดี อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะไม่มีปัจจัยบวกทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำในปีนี้ เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์ม ฯลฯ แต่กลุ่มผู้บริโภคที่เลือกใช้บริการกับบริษัทรับสร้างบ้านนั้น พฤติกรรมโดยส่วนใหญ่นิยมใช้เงินออมหรือเงินสด มากกว่าจะกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งก็มีการวางแผนที่จะสร้างบ้านมาล่วงหน้านานนับปีแล้ว ดังนั้น ปัจจัยทางเศรษฐกิจจึงอาจไม่มีผลต่อการตัดสินใจสร้างบ้านอย่างเป็นนัยสำคัญ โดยสมาคมฯ คาดว่ากำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคใต้จะฟื้นกลับมาอีกครั้งหลังจากซบเซามานาน นายสิทธิพร กล่าวสรุป