ลดใช้พลังงาน- เสริมความมั่นคงไฟฟ้าให้ภาคใต้ ตั้งรับแหล่งก๊าซธรรมชาติ JDA A18 หยุดซ่อมบำรุง
ลดใช้พลังงาน- เสริมความมั่นคงไฟฟ้าให้ภาคใต้ ตั้งรับแหล่งก๊าซธรรมชาติ JDA A18 หยุดซ่อมบำรุงวิกฤติทางด้านพลังงานของประเทศไทยในหลายครั้งที่ผ่านมา ทั้งการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย หรือการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ถึงแม้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมมาตรการไว้รัดกุม รอบคอบ เพียงใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จะช่วยพาประเทศให้ก้าวข้ามวิกฤตินั้นมาได้ คงหนีไม่พ้น การร่วมมือร่วมใจลดใช้พลังงาน
การหยุดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA-A18) ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ (ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2557) ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าในภาคใต้โดยตรง เพราะการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลาได้ เป็นผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าหายไปจากระบบ 710 เมกะวัตต์จากกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของภาคใต้ที่ประมาณ 2,330 เมกะวัตต์ ขณะที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ Peak อยู่ที่ระดับ 2,450 เมกะวัตต์
แม้ว่ากระทรวงพลังงานจะมีมาตรการรองรับคือ 1) เพิ่มการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางเป็น 700 เมกะวัตต์ จนถึงระดับสูงสุดที่ 950 เมกะวัตต์ (เฉพาะกรณีฉุกเฉิน) 2) ขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้ามากที่สุด ลดการใช้ไฟฟ้าช่วง 18.30 - 22.30 น. คาดว่าจะสามารถลดใช้ไฟได้ 200 เมกะวัตต์ 3) การประสานกับประเทศมาเลเซียในการขอซื้อไฟฟ้า (โดยมาเลเซียจะสามารถขายไฟให้ไทยได้ในกรณีที่ระบบไฟฟ้าของมาเลเซียไม่ขัดข้อง) และ 4) แผนเวียนดับไฟฟ้าใน 3 กลุ่มคือ กลุ่มภาคใต้ตอนบน, ภาคใต้ตอนกลาง และภาคใต้ตอนล่าง ทั้งนี้ การเวียนดับไฟฟ้าจะไม่กระทบกับสถานที่ราชการ โรงพยาบาล และสถานที่สำคัญๆ
นอกจากนั้น กระทรวงพลังงานยังได้จัดกิจกรรมรณรงค์ สร้างความเข้าใจเพื่อลดใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องในกลุ่มเป้าหมาย มีการให้ความรู้ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ ป้ายรณรงค์ มีกิจกรรมกระตุ้นจิตสำนึกรักพลังงานด้วยการเดินรณรงค์ให้ประหยัดพลังงานตามชุมชน ไปจนถึงตลาดสด หรือศาลากลางจังหวัด เพื่อให้ข้อมูลถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง
ไม่ยาก.. ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความมั่นคงทางพลังงาน และไม่ต้องเผชิญกับไฟฟ้าดับ แค่ “ปรับทัศนคติ” การใช้พลังงานในทุกวันว่า ต้องช่วยกันประหยัดเพื่อส่วนรวม เช่น ช่วยกันปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศอยู่ที่ 26 องศา ปิดก่อนออกจากห้อง 30 นาที ล้างเครื่องปรับอากาศสม่ำเสมอ หรือถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้งาน หรือการตั้งตู้เย็นให้วางห่างผนัง 15 เซนติเมตร ไม่นำของร้อนเข้าตู้เย็น ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้พร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอไฟฟ้า “ปิดเมื่อไม่ใช้ หรือใช้เท่าที่จำเป็น” ให้ทั้งหมดเริ่มจากตัวเรา...
ประเทศยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงทางพลังงานอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะประเทศผูกติดกับการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 70 เมื่อแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใดมีปัญหา จะกระทบต่อภาพรวมความมั่นคงของระบบทันที แม้จะออกมาตรการทางเทคนิคที่รัดกุมเพียงใด แต่ก็จะช่วยได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น การแก้ปัญหาที่ได้ผลมั่นคงและยั่งยืนนั้น คือการได้รับความร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันลดใช้พลังงาน และใช้อย่างมีประสิทธิภาพจากคนไทยทั้งประเทศ