พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ส่องเศรษฐกิจการค้าชายแดนไทย กับโอกาสการเติบโตของภาคอสังหาฯ
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ระบุ การค้าชายแดนมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่กําลังจะเริ่มต้นอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะขยายฐานทางธุรกิจ ทั้งนี้ ปี 2556 ประเทศไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน (พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย) รวมกว่า 9 แสนล้านบาท และตลาดอสังหาริมทรัพย์ย่านเขตการค้าชายแดนมีการขยายตัวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม ราคาไม่เกิน 60,000 บาทต่อตารางเมตร มีการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนในท้องถิ่น กลุ่มแรงงาน และนักท่องเที่ยวที่ เดินทางเข้ามาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจเพื่อการค้าเสรี
นายภูมิภักดิ์ จุลมณีโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (Mr. Poomipak Julmanichoti, Managing Director, Plus Property Company Limited) ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า “เมื่อมองในแง่การเติบโต การค้าชายแดนมีบทบาทสําคัญในการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยพบว่ามูลค่าการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากประเทศเพื่อนบ้านดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าเสรีมากขึ้น รวมถึงนโยบายของภาครัฐทางด้านพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมใหม่เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และการลงทุนที่มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งเชิงพาณิชย์ (พล่าซ่า คลังสินค้า อาคารพาณิชย์) และเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย”
ประเทศไทยมีจุดการค้าชายแดนประมาณ 89 จุด มีมูลค่าการค้าระหว่างชายแดนไทยกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน (พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย) คิดเป็นมูลค่ากว่า 9 แสนล้านบาท หรือ 69% ของการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 1.51% เมื่อเทียบกับปี 2555 โดยจุดการค้าชายแดนที่พบนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาค รวมไปถึงจังหวัดที่ใกล้เคียงกับจังหวัดชายแดน ซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจ ธุรกิจอุตสาหกรรมที่สำคัญ และมีการรวมกลุ่มของประชากร แรงงาน นักลงทุน หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเพื่อทำงาน ซื้อขายสินค้า และท่องเที่ยวอย่างไม่ขาดสาย มีการกระจายรายได้และขยายฐานเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
จากผลการสำรวจของฝ่ายวิจัยและพัฒนาของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้ทำการเก็บข้อมูลในปี 2556-2557 พบว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ย่านเขตการค้าชายแดนมีการขยายตัวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่เริ่มเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่พักอาศัยในตลาดต่างจังหวัด ที่ได้ปัจจัยสนับสนุนทางอ้อมจากพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจที่มีการกระจายรายได้สู่ประชาชนในท้องถิ่นจากการค้าขาย ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการอยู่อาศัยเป็นแบบคนเมืองที่นิยมพักอาศัยในห้องชุดขนาดกระทัดรัดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งจากการสำรวจตลาดอสังหาฯ เมื่อปีที่ผ่านมา ในพื้นที่เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี และหาดใหญ่ ที่อยู่ในแนวเขตการค้าชายแดน พบการขยายตัวของคอนโดมิเนียมและได้รับผลตอบรับดี ส่วนใหญ่เป็นโครงการใหม่ที่เปิดขายในปี 2555 โดยเฉลี่ยประมาณ 20 ยูนิตต่อเดือนต่อโครงการ หากเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ ผลตอบรับสูงถึง 40-50 ยูนิตต่อเดือนต่อโครงการ โดยพบว่าผู้ซื้อส่วนใหญ่มาจากประชาชนในท้องถิ่น อาทิ กลุ่มผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษา พนักงานของรัฐฯ รวมไปถึงกลุ่มนักลงทุนที่นิยมซื้อเพื่อปล่อยเช่าแบบรายเดือน ซึ่งเป็นอุปทานหนึ่งที่เข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาดอพาร์ตเมนต์ในพื้นที่ด้วย จึงอาจทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมอาจไม่เติบโตไปทุกพื้นที่ในแนวเขตการค้าชายแดน อาจด้วยลักษณะพื้นที่ที่บางจังหวัดเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาอสังหาฯ ในแนวราบมากกว่าแนวสูง และกลุ่มผู้ซื้อส่วนใหญ่ยังนิยมซื้อบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ เช่น พื้้นที่อุบลราชธานี และกาญจนบุรี เป็นต้น”
การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 นั้น จะมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันให้ตลาดอสังหาฯ ขยายตัวทั้งตลาดขายและตลาดเช่า โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม ราคาไม่เกิน 60,000 บาทต่อตารางเมตร เนื่องจากเป็นราคาที่ไม่สูงมากนัก และมีการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้ซื้อ เช่น ประชาชนในท้องถิ่น กลุ่มข้าราชการ กลุ่มแรงงาน และนักท่องเที่ยวที่ไหลเข้ามาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจเพื่อการค้าเสรี และการคมนาคมขนส่งที่ถูกพัฒนาให้มีความเชื่อมโยงกันระหว่างภูมิภาค ทำให้จังหวัดชายแดนและจังหวัดใกล้เคียงกลายเป็นพื้นที่ศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง เหมาะแก่การลงทุนอสังหาฯ ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงควบคู่กันคือข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมืองภายในประเทศ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความไม่สงบตามแนวชายแดนที่ทำให้การค้า การลงทุน และการไหลเข้าของกลุ่มอุปสงค์ชะลอลงไป ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการลงทุนที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาลงทุนอสังหาฯ ในตลาดที่กำลังเติบโตนี้ต่อไปได้” นายภูมิภักดิ์กล่าว