สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THBA) ประเมินภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ในกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ
สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THBA) ประเมินภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ในกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ โดยแยกเป็น 2 ตลาดหลักๆ ได้แก่ 1.ตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2.ตลาดรับสร้างบ้านในภูมิภาคหรือต่างจังหวัด ซึ่งทั้งสองตลาดมีการขยายตัวและถดถอยที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยสมาคมฯ พบว่ากำลังซื้อหรือความต้องการสร้างบ้านใน กทม.และปริมณฑล ยังชะลอตัวต่อเนื่อง หรือลดลงกว่าร้อยละ 10 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ เป็นเพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง และเศรษฐกิจประเทศที่ชะลอตัว กอปรกับแนวโน้มและพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่หันมานิยมเลือกซื้อที่อยู่อาศัยประเภทอื่นแทนการสร้างบ้านเองมากขึ้น เช่น คอนโดมิเนียม ฯลฯ ด้วยเหตุผลเพราะ ราคาและความสะดวก
ขณะที่ตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ของธุรกิจรับสร้างบ้านยังสามารถเติบโตได้ดี ทั้งนี้ พบว่าความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน เติบโตร้อยละ 22 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ดี พบว่ากำลังซื้อส่วนหนึ่งของผู้บริโภคในภาคใต้เติบโตแบบชะลอตัว หรือขยายตัวเพียงร้อยละ 2 โดยประเมินว่ามีผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม นอกจากนี้ ผู้บริโภคและประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ ต่างหันมาให้ความสนใจปัญหาการเมืองมากกว่าเรื่องอื่นๆ จึงชะลอการตัดสินใจเรื่องสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยหลังใหม่ไว้ชั่วขณะ
สำหรับทิศทางการแข่งขันของธุรกิจรับสร้างบ้าน ในไตรมาสแรกนี้ถือว่าไม่รุนแรงนัก อาจเป็นเพราะปัจจัยลบที่ยังรุมเร้าผู้ประกอบการเอง อาทิเช่น ปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ฯลฯ รวมถึงยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุน ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้างที่ใช้ปูนซิเมนต์เป็นวัตถุดิบหลัก เช่น คอนกรีตผสมเสร็จ อิฐมวลเบา กระเบื้องหลังคาคอนกรีต พื้นสำเร็จรูป เสาเข็ม ฯลฯ โดยเมื่อปีที่แล้วผู้ผลิตมีการปรับราคาหลายรอบ หรือปรับขึ้นโดยเฉลี่ย 15-20% ขึ้นไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องลดการจัดโปรโมชั่น และหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคา เพราะไม่อาจแบกรับต้นทุนที่ผันผวนตลอดเวลาได้ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเอง ก็ไม่สามารถปรับราคาขายบ้านได้ในช่วงเวลานี้ ด้วยภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว
แนวโน้มและทิศทางตลาดไตรมาส 2
ด้วยปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าแรงแพง ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่บั่นทอนขีดความสามารถของบริษัทรับสร้างบ้านส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าแรงงานก่อสร้างขาดแคลนอย่างหนัก กระทั่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่อาจสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และไม่สามารถขยายการรับงานสร้างบ้านได้เพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้ว่ามีผู้ประกอบการชั้นนำหลายราย เริ่มเบนเข็มหันไปขยายตลาดและรับงานสร้างบ้านในต่างจังหวัดมากขึ้น ด้วยเพราะยังสามารถหาแรงงานได้ง่ายกว่า รวมถึงกำลังซื้อหรือความต้องการสร้างบ้าน ยังมีมากพอและการแข่งขันไม่รุนแรงมากนัก สะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางตลาดรับสร้างบ้านในครึ่งปีแรกและตลอดปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับในปีที่ผ่านๆ มา
“จากที่กล่าวข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการได้มีการปรับตัว เพื่อลดอุปสรรคและการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดเดิม และถือเป็นก้าวที่สองของการขยายโอกาสทางการตลาด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่แข่งขันกระจุกตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ทิศทางการปรับตัวของผู้ประกอบการดังกล่าว สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงพฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์และกำลังซื้อของผู้บริโภคในต่างจังหวัด ทั้งนี้ สมาคมฯ ประเมินว่านับจากไตรมาสสองปีนี้เป็นต้นไป ตลาดรับสร้างบ้านต่างจังหวัดมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง”
สำหรับ แนวโน้มการแข่งขันในช่วงไตรมาสสองนี้ คาดว่าผู้ประกอบการทั่วไปยังคงเลือกใช้การแข่งขันราคาเป็นกลยุทธ์หลัก เช่น โปรโมชั่นส่วนลดเงินสด 15-20% ฯลฯ โดยเฉพาะรายที่ชื่อเสียงขาดความน่าเชื่อถือหรือถูกผู้บริโภคร้องเรียนบ่อยๆ แต่สำหรับผู้ประกอบการรายที่ได้รับความเชื่อถือ จะเน้นแข่งขันที่คุณภาพ บริการก่อนและหลังการขาย และเน้นความสะดวกที่ผู้บริโภคได้รับ โดยจะไม่เน้นแข่งลดราคาเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันผู้บริโภคเองก็มองว่า ราคาขายบ้านที่ผู้ประกอบการทำการโฆษณา มิใช่ราคาขายที่แท้จริง แต่เป็นราคาที่ตั้งเผื่อไว้สำหรับลดราคาภายหลังเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ อย่างไรก็ดี สมาคมฯ ประเมินว่าภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในไตรมาสสองนี้จะยังไม่ฟื้นตัว โดยปัญหาการเมืองยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ฉุดกำลังซื้อให้ชะลอตัว
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวเสริมว่า ปัญหาการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลของประชาชนที่ยืดเยื้อมากว่า 5 เดือน ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้าน อันเนื่องจากผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจลงทุนสร้างบ้านหลังใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการชุมนุมนั้นได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ได้แก่ ตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และภาคใต้ซึ่งกำลังซื้อชะลอตัวมาหลายเดือนแล้ว ในส่วนของตลาดรับสร้างบ้านภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางก็ได้รับผลกระทบเช่นกันแต่ไม่รุนแรงมากนัก รวมถึงผลจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคปรับตัวลดลงตามสถานการณ์ดังกล่าว ผู้ประกอบการจึงควรเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับกำลังซื้อในตลาดพื้นที่เดิมที่ลดลง ทั้งด้านการบริหารจัดการและวิธีทางการตลาด เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายใหม่มากที่สุด ได้แก่ 1.การขยายพื้นที่ให้บริการหรือขยายสาขาต่างจังหวัด 2.การเลือกใช้เครื่องมือสื่อสารทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ 3.การปรับกระบวนการบริหารจัดการในองค์กรให้สอดคล้องกับภาวะแรงงานขาดแคลน ฯลฯ เป็นต้น
“ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าแนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถึงแม้จะไม่มีวิกฤติการเมืองหรือเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ก็รับรู้ได้ว่าตลาดเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ด้วยเหตุหลายๆ ปัจจัย ได้แก่ ที่ดินเปล่าสำหรับปลูกสร้างบ้านน้อยลง ราคาที่ดินแพง สินค้าที่เป็นคู่แข่งมีให้เลือกมากขึ้น เช่น คอนโดมิเนียม ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณความต้องการสร้างบ้านเองลดลง แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับพบว่า ธุรกิจขนาดใหญ่และความเจริญทางเศรษฐกิจกำลังขยายสู่ภูมิภาคหรือต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมความต้องการสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยหลังใหม่ ในต่างจังหวัดจึงเติบโตและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง”
ในส่วนของผู้ประกอบการเอง หากจะรุกขยายตลาดรับสร้างบ้านต่างจังหวัด ก็ควรเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะควรให้ความสำคัญกับการที่ผู้บริโภค จะสามารถเข้าถึงตัวผู้ประกอบการได้ง่ายที่สุด อาทิ มีสาขาให้บริการในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงการใช้สื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ที่เฉพาะเจาะจงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ เช่น ป้าย โซเชียลมีเดีย ฯลฯ ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าและวัดผลได้ชัดเจน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรพัฒนากระบวนการทำงานก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาค่าแรงแพงและแรงงานขาดแคลน อาจหันมาพึงพาเทคโนโลยีและใช้เครื่องมือก่อสร้างที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อทดแทนการใช้แรงงานและสามารถทำงานได้ปริมาณมากขึ้นในระยะเวลาเท่าๆ กัน
ทั้งนี้ เชื่อว่าหากผู้ประกอบการมีการพัฒนาและปรับปรุงตามแนวทางดังกล่าว ก็จะทำให้ผู้บริโภคสัมผัสได้ถึง “ความแตกต่าง” เมื่อเปรียบเทียบกับผู้รับเหมารายย่อยในท้องถิ่น และสะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพให้เห็นชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ พบว่าแนวทางดังกล่าว เริ่มมีผู้ประกอบการชั้นนำหลายราย นำมาใช้เป็นกลยุทธ์การแข่งขันอย่างได้ผล ทั้งในแง่การขยายตลาดกลุ่มเป้าหมายและยอดขายที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการรายใด มองเห็นโอกาสและเริ่มต้นก่อน ย่อมจะได้เปรียบในการแข่งขัน