เนื้อหาวันที่ : 2014-03-24 15:25:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1622 views

TRT โชว์กวาด Backlog เฉียด 2,000 ล้านบาท คาดเป้าปี 57 ทะลุ 3,000 ล้าน

ถิรไทย หรือ TRT ผู้นำตลาดผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของไทย หลังเผยผลประกอบการปี 56 รายได้พุ่งกระฉูดกว่า 2,500 ล้านบาท

ถิรไทย หรือ TRT ผู้นำตลาดผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของไทย หลังเผยผลประกอบการปี 56 รายได้พุ่งกระฉูดกว่า 2,500 ล้านบาท ด้วยกำไรสุทธิ 177.52 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 500 % จากปีก่อน โชว์เดือนมีนาคมกวาด Backlog เฉียด 2,000 ล้านบาทแล้ว ล่าสุดส่งบริษัทลูก “ถิรไทย อี แอนด์ เอส” รับงานรถขุดเจาะ และรถพ่วงฉีดน้ำใช้ในงานระบบ กฟภ. มูลค่ากว่า 130 ล้านบาท “สัมพันธ์ วงษ์ปาน” สั่งลุยไม่หยุดเข้าร่วม Bids ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงส่งออกมูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท แย้มอาจจะได้ 20-25 % คาดปี 57 เป้าทะลุ 3,000 ล้านบาทแน่

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาดของคนไทยเพียงแห่งเดียว เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางบริษัทได้ประกาศผลประกอบการปี 2556 ที่มีรายได้กว่า 2,500 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 177.52 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 500 % แล้วนั้น ในปี 2557 นี้ คิดว่ายังเป็นปีสดใสอีกปีหนึ่งของบริษัทที่ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจและการลงทุนมีการขยายตัวอย่างชัดเจนทั้งภูมิภาค ASEAN คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 40 % หรือมากกว่า 3,000 ล้านบาท

เนื่องจากคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ของทุกผลิตภัณฑ์ขยายตัวมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) มูลค่ามากกว่า 1,932 ล้านบาทแล้ว โดยมาจากคำสั่งซื้อ และการส่งมอบงานหม้อแปลงไฟฟ้า ให้กับการไฟฟ้านครหลวง มูลค่า 227 ล้านบาท หน่วยงานเอกชนในประเทศ 762 ล้านบาท ส่งออก 265 ล้านบาท และบริษัทในเครือ 678 ล้านบาท ได้แก่ งานสายพานลำเลียงขี้เถ้าถ่านหินโครงการ Hongsa Mine Mouth Power Plant ที่ สปป.ลาว ของบริษัท แอล. ดี. เอส. เมทัล เวิร์ค จำกัด มูลค่า 448 ล้านบาท

และเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา บริษัท ถิรไทย อี แอนด์ เอส จำกัด บริษัทในเครือ ได้รับมอบสัญญาจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในสัญญาซื้อขายรถขุดเจาะจำนวน 13 คัน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 110,210,000 บาท และรถพ่วงฉีดน้ำ จำนวน 4 คัน มูลค่า 21,892,000 บาท และงานอื่นๆ อีก 98 ล้านบาท

นายสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับงานที่มีโครงการจะเปิดประมูลอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่ากว่า 8,050 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การไฟฟ้านครหลวง 2,300 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2,000 ล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต 100 ล้านบาท และในส่วนของภาคเอกชนภายในประเทศอีก 1,950 ล้านบาท และส่งออกประมาณ 1,000 ล้านบาท และงานประมูลของบริษัทย่อยอีก 700 ล้านบาท บริษัทฯคาดว่าจะสามารถชนะการประมูลงานได้มากกว่า 20-25% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) จะยังคงรักษาระดับให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 20-25 % ควบคู่กับการรักษาสัดส่วนตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และมาตรการในด้านอื่นๆ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เพื่อรักษาอัตราเติบโตของบริษัทฯ