เนื้อหาวันที่ : 2014-03-17 14:36:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1556 views

ก.พลังงาน ร่วมกับ มช. โชว์ผลสำเร็จ 2 ทศวรรษ พัฒนาก๊าซชีวภาพ

ผลิตก๊าซชีวภาพได้มากกว่า 835 ล้านลบ.ม ผลิตเป็นไฟฟ้าให้ประเทศได้มากถึง 1,169 ล้านหน่วย และสร้างพลังงานทดแทนให้ประเทศคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 4,094 ล้านบาท

ระทรวงพลังงาน ร่วมกับ สถาบันพลังงาน มช. โชว์ผลสำเร็จการส่งเสริมผลิตก๊าซชีวภาพตั้งแต่ปี 2538 ถึงปัจจุบัน รวม 19 ปี สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้มากกว่า 835 ล้านลบ.ม ผลิตเป็นไฟฟ้าให้ประเทศได้มากถึง 1,169 ล้านหน่วย และสร้างพลังงานทดแทนให้ประเทศคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 4,094 ล้านบาท

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ กองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน ได้ให้การสนับสนุน สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทน โดยเริ่มโครงการนำร่องตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 19 ปี ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานได้รับความสนใจจากเกษตรกรเจ้าของฟาร์มทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมโครงการ เป็นจำนวนมากถึง 1,140 แห่ง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้มากกว่า 835 ล้าน ลบ.ม สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 1,169 ล้านหน่วย คิดเป็นเงินมูลค่ามากกว่า 4,094 ล้านบาท

สนพ. ได้ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า การนำมาใช้ผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด (Compressed Biomethane Gas : CBG) ซึ่งมีคุณภาพเทียบเท่า NGV สามารถนำไปใช้เติมในรถยนต์ได้ดี ไม่มีปัญหากับเครื่องยนต์แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ในหมู่บ้านต่างๆ ด้วยการส่งก๊าซชีวภาพผ่านไปตามท่อ PVC ดังนั้นเพื่อให้ก๊าซชีวภาพสามารถนำไปใช้ทดแทน LPG ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ล่าสุด สนพ.จึงสนับสนุนให้ศึกษาการนำก๊าซชีวภาพมาพัฒนาคุณภาพให้ใกล้เคียงกับก๊าซ LPG และนำมาอัดใส่ถังแทนการส่งผ่านทางท่อ โดยปัจจุบันได้นำร่องแจกฟรีให้ชาวบ้าน หมู่บ้านโรงวัว อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ นำไปใช้ในครัวเรือน ซึ่งนับเป็นหมู่บ้านแห่งแรกของไทยที่ปลอด LPG

จะเห็นได้ว่าพลังงานก๊าซชีวภาพ เป็นพลังงานทดแทนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ และใช้ทดแทนพลังงานต่างๆ ในประเทศได้มากมาย ที่สำคัญเป็นพลังงานที่สะอาด ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะวัตถุดิบเป็นของเสีย หรือของเหลือใช้ทางการเกษตร รวมถึงพืชพลังงาน อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีในประเทศที่ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ สามารถผลิตพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง” ผอ.สนพ.กล่าว

ด้าน รศ.ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สถาบันพลังงาน มช.) กล่าวว่า สถาบันฯ ยังคงคิดค้นออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ เพื่อถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการฟาร์ม นักวิชาการ นักวิจัย วิศวกร และผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีความต้องการการใช้พลังงานทดแทนในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคครัวเรือน ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมาตรฐานประสิทธิภาพและความยั่งยืนของระบบก๊าซชีวภาพ

จากผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในระยะที่ 4 ปี 2551-2557 มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 256 แห่ง โดยการก่อสร้างและติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพรองรับปริมาณปศุสัตว์ จำนวน 245,364 หน่วยปศุสัตว์หรือเทียบเท่าสุกรขุนจำนวน 2,044,700 ตัว สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 68 ล้านลบ.ม./ปี ทดแทนก๊าซ LPG ได้จำนวน 1 ล้าน กก./ปี และน้ำมันเตาเกรดเอ 28,401 ลิตร/ปี และผลิตไฟฟ้าได้ 90 ล้านหน่วย/ปี ช่วยลดโลกร้อนจากการปล่อยทิ้งก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1,423 ตันคาร์บอน/วัน หรือ 519,456 ตันคาร์บอน/ปี ทั้งนี้สถาบันฯ จึงพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศมีพลังงานทดแทนใช้ตามแผนและเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และเพื่อให้คนไทยทุกคนมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนต่อไป” รศ.ประเสริฐ กล่าว