ตลาดที่อยู่อาศัยในปี พ.ศ. 2557 จึงหลีกไม่พ้นประเด็นทางการเมือง เพราะทุกวันนี้การจัดกิจกรรมทางการตลาด ไม่ค่อยได้ผล
ทิศทางการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ 57 ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ ได้จัดทำผลสรุปล่าสุด ดังนี้
ในภาพรวมปี 2556
1. กรุงเทพและปริมณฑล มีโครงการเปิดตัวใหม่ถึง 475 โครงการ รวม 131,645 หน่วย รวมมูลค่า 385,447 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วโครงการหนึ่งมีขนาด 277 หน่วย มูลค่า 881 ล้านบาท นับว่าส่วนมากเป็นโครงการขนาดใหญ่
2. ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าการพัฒนา เพิ่มขึ้นกว่าปี 2555 ถึง 29% ยกเว้นในช่วง 1-2 เดือนล่าสุดที่มีปัญหาทางเมือง
3. ราคาขายต่อหน่วย อยู่ที่ 2.928 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกันมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2554-2556) แสดงให้เห็นว่า ตลาดเน้นการพัฒนาในระดับปานกลาง สินค้าระดับราคาเกิน 3 ล้านบาท มีโอกาสขายได้น้อย ส่วนสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท สามารถซื้อไว้ลงทุนและใช้สอยได้ดี และราคาวัสดุก่อสร้างไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาที่อยู่อาศัยแต่อย่างใด
4. บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท ครองอันดับเปิดตัวโครงการมากที่สุดถึง 51 โครงการ จำนวน 21,541 หน่วย รวมมูลค่าถึง 43,145 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหน่วยขายหมดในตลาดถึง 16.4% หรือหนึ่งในหกของทั้งตลาด และหากในกรณีมูลค่าก็ประมาณ 11.2% หรือหนึ่งในเก้าของทั้งตลาด
5. ในจำนวนหน่วยขายที่เปิดใหม่ในปี พ.ศ.2556 บริษัทที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรก ครองส่วนแบ่งตลาดทั้งหมด 51.4% หรือครึ่งหนึ่งของทั้งตลาด และหากพิจารณาจากมูลค่าสินค้าที่เสนอออกมารวมกันถึง 48%
6. บริษัทมหาชนและบริษัทในเครือรวมประมาณ 50 บริษัท ครองส่วนแบ่งในตลาดที่อยู่อาศัยที่เปิดใหม่ในปี พ.ศ.2556 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมกันถึง 68% ในแง่ของมูลค่า หรือ 69% จำนวนหน่วย ที่เหลือเป็นของบริษัทรายย่อยนอกตลาดหลักทรัพย์ แสดงให้เห็นว่า รายใหญ่มีส่วนแบ่งในตลาดสูงมาก แต่ไม่ได้หมายความว่ามีใครหรือรายใดรายหนึ่งสามารถชี้นำหรือครองงำตลาดได้
7. ทำไม บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท จึงยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ ทั้งที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเช่นเดียวกับนักพัฒนาที่ดินรายอื่นในปี พ.ศ.2540-2542 และยังพบวิกฤติน้ำท่วมปลายปี พศ.2554 ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะนอกจากทำแทบทุกทำเลเช่นเดียวกับ บมจ.แลนด์แอนด์เฮาส์ ซึ่งเคยเป็นบริษัทอันดับหนึ่งในอดีต ยังพัฒนาที่อยู่อาศัยแทบทุกระดับราคา ทำให้มีฐานที่ใหญ่ ประกอบกับการมีเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ดี มีระบบการบริหาร-จัดการที่ดีและระดมมืออาชีพเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
แนวโน้มปี 2557
1. คาดว่าจะมีหน่วยขายเปิดใหม่ไม่เกิน 100,000 หน่วย รวมมูลค่าไม่เกิน 300,000 ล้านบาท หรือลดลงจากปี พ.ศ.2556 ประมาณ 25-30% ซึ่งถือเป็นการปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชลอลง เนื่องจากการเกิดภาวะชะงักงันในการลงทุนภาครัฐในระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งยังอาจมีความยุ่งยากทางการเมืองไปอีก 3-6 เดือน ทำให้การลงทุนภาครัฐชลอไปอีกครึ่งปีถึง 1 ปี
2.. สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการก็คือการทบทวนลดเป้าการลงทุนใหม่ การพยายามถ่ายขายทรัพย์ออกโดยเร็ว และทำการสำรวจวิจัยให้ดีก่อนการลงทุน
3. สำหรับภาครัฐ ควรสร้างระบบคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้บริโภคภาคบังคับแก่บริษัทพัฒนาที่ดินทุกแห่งเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับระบบตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวม การควบคุมอุปทานโดยการเพิ่มอัตราเงินดาวน์ เพื่อลดการเก็งกำไรระยะสั้น รวมทั้งการพยายามขายทรัพย์สินมือสองให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ผ่านกรมบังคับคดี สถาบันการเงินด้วยวิธีการประมูลทรัพย์ที่เปิดเผยและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค เป็นต้น
ตลาดที่อยู่อาศัยในปี พ.ศ. 2557 จึงหลีกไม่พ้นประเด็นทางการเมือง เพราะทุกวันนี้การจัดกิจกรรมทางการตลาด ไม่ค่อยได้ผล เพราะการเมืองกำลังมาแรง จนดึงความสนใจของประชาชนออกไป และนักลงทุนคงไตร่ตรองแล้วที่จะ "กำเงิน" ไว้ก่อน ดูลู่ทางที่ดีในอนาคตดีกว่าเสี่ยงลงทุนในขณะนี้
Info : facebook.com/terrabkk