เนื้อหาวันที่ : 2014-02-03 11:43:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1654 views

SOLAR รับอานิสงส์กีดกันทางภาษีเริ่มได้ผลเดินหน้าผลิตแผ่นและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขาย ตปท.

SOLAR รับอานิสงส์กีดกันทางภาษีเริ่มได้ผลเดินหน้าผลิตแผ่นและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขาย ตปท.

หัวเรือใหญ่ SOLAR “ปัทมา วงษ์ถ้วยทอง” ปลื้ม หลังการกีดกันทางภาษีเริ่มได้ผล หนุนแผ่นและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขายดี เดินหน้าบุกตลาดต่างประเทศ ส่วนปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรในอินโดนีเซีย ให้ออกแบบระบบไฟฟ้าสำรอง พร้อมติดตั้งหรือ DIY ให้กับอาคารและบ้านพักอาศัยในรูปแบบ Plug and Play ขณะที่ปี 57 วางเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 50% จากปัจจุบัน 10

นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR ผู้นำในการผลิตแผ่นเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดมัลติ-คริสตัลไลน์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เปิดเผยว่าปัจจุบันแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่นำเข้าจากประเทศจีนจะต้องเสียภาษีนำเข้าถึง 10% แต่หากซื้อแผงเซลล์แสงอาทิตย์ภายในประเทศราคาจะไม่แพง เพราะโรงงานของโซลาร์ตรอน ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จาก BOI ทำให้สามารถผลิตสินค้าในราคาไม่สูงมาก แต่มีคุณภาพระดับโลก อีกทั้งยังมีบริการหลังการขายได้อย่างรวดเร็ว

เพราะมีโรงงานอยู่ภายในประเทศและมีทีมงานให้บริการเป็นของบริษัทเอง ที่สำคัญราคาเหมาะสมกับคุณภาพอีกด้วย “ผู้ประกอบการไทยได้เปรียบในเรื่องของกำแพงภาษี โดยเฉพาะกับจีนที่เป็นผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์รายใหญ่ สินค้าจากจีนที่นำเข้าไทยจะต้องเสียภาษีนำเข้าถึง 10% ถ้าสินค้าจากจีนนำเข้ายุโรปจะต้องเสียภาษีในอัตรา 50% ส่วนสินค้าจากไทยหากส่งไปจำหน่ายในยุโรป ราคาจะถูกกว่า เพราะไม่ต้องเสียภาษี ขณะเดียวกัน “โซลาร์ตรอน” เองก็มีจุดเด่นอยู่ที่สามารถการันตี Output ของไฟฟ้าที่ผลิตออกมาเพื่อจำหน่ายได้ ที่สำคัญราคาเหมาะสมกับคุณภาพเมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนต่ำกว่า” นางปัทมา กล่าว

ส่วนในปี 2557 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ขยายตัวประมาณ 30% จากปี 2556 เพราะรับรู้รายได้จากการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ บมจ.บางจาก ปิโตรเลียม (BCP) โครงการระยะที่ 3 ขนาด 50 เมกะวัตต์และยังสามารถบริหารต้นทุนในการขายได้ดีขึ้นจึงทำให้มีอัตรากำไรเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 50% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ 10% เพื่อกระจายความเสี่ยงจากปัจจัยภายในประเทศที่อาจมีความไม่แน่นอน โดยการเพิ่มสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศนั้น บริษัทฯ จะเน้นประเทศในแถบอาเซียน

เนื่องจากมีความต้องการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดบริษัทฯ ได้รับการติดต่อจากพันธมิตรในประเทศอินโดนีเซีย ให้ออกแบบ ระบบไฟฟ้าสำรอง พร้อมติดตั้งหรือ DIY ให้กับอาคาร และบ้านพักอาศัยในรูปแบบ Plug and Play จะช่วยขยายตลาดในต่างประเทศและสนับสนุนให้รายได้ของบริษัทฯ ในอนาคตเติบโตในทิศทางที่ดีอีกด้วย