เนื้อหาวันที่ : 2014-01-10 10:35:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1486 views

ตลาดอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ ปี 56 แข็งแกร่ง แต่อาจได้รับผลกระทบในปีนี้ หากเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ชะลอตัวลงจากหลายๆ ปัจจัย ได้แก่ การชะลอตัวของภาคการส่งออก หนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ชะลอตัวลงจากหลายๆ ปัจจัย ได้แก่ การชะลอตัวของภาคการส่งออก หนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และการชะลอตัวลงของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุน สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความตึงเครียดมากขึ้นในช่วงปลายปี ได้ส่งผลกระทบเชิงลบเพิ่มขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ต่อเนื่องในปี 2557 โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า การขยายตัวของจีดีพีในปีที่ผ่านมาจะอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่า 4% อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา ยังไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของกรุงเทพฯ มากนัก แต่หากการขยายตัวของเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวต่อไปอีกในปีนี้ คาดว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามการวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ระหว่างประเทศ โจนส์ แลง ลาซาลล์

นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ โจนส์ แลง ลาซาลล์ กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกรุงเทพฯ มีผลประกอบการที่ดี แม้จะมีปัจจัยลบต่างๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดีมานด์หรือความต้องการในตลาดมีอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการที่ราคาขายและค่าเช่าของอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ มีการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และโครงการใหม่ๆ ที่เปิดตัว ได้รับการตอบรับที่ดี”

ในภาคธุรกิจคอนโดมิเนียม โครงการที่เปิดตัวใหม่ส่วนใหญ่ในปี 2556 ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ โดยเฉพาะโครงการที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมและที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ส่วนราคาขายยังคงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นที่ไม่หวือหวามากนักเมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากมีการแข็งขันสูง จากการที่ยังมียูนิตเสนอขายในตลาดจำนวนมาก

ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์เชิงธุรกิจ ซึ่งได้แก่ อาคารสำนักงานและศูนย์การค้า มีผลประกอบการการที่แข็งแกร่งในปีที่ผ่านมา หลักๆ เนื่องจากอุปทานหรือซัพพลายเกิดใหม่ในตลาดมีจำกัด ในขณะที่ความต้องการเช่าพื้นที่มีอยู่สูง ส่งผลให้มีพื้นที่ว่างเหลือเช่าลดต่ำลงและค่าเช่าปรับตัวสูงขึ้น โดยในส่วนของตลาดอาคารสำนักงาน มีพื้นที่ว่างเหลือเช่าเพียงประมาณ 10% ในขณะที่ค่าเช่ามีการปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันตลอด 9 ไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนอสังหาริมทรัพย์ประเภทศูนย์การค้า มีพื้นที่ว่างเหลือเช่าเฉลี่ยเพียงไม่ถึง 6% และค่าเช่าปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตลอด 13 ไตรมาสที่ผ่าน เนื่องจากซัพพลายใหม่มีไม่มาก ในขณะที่มีผู้ประกอบการสินค้าแบรนด์ไทยและแบรนด์จากต่างประเทศมีความต้องการสูงในการเช่าพื้นที่เปิดร้าน

นางสุพินท์กล่าวว่า “จากการที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของกรุงเทพฯ มีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทำให้ยังคงสามารถมีผลประกอบการที่ดีได้ในปี 2556 ที่ผ่านมา แต่สำหรับปี 2557 นี้ แนวโน้มของตลาดยังมีทิศทางที่ไม่ชัดเจนมากนัก ข้อกังวลสำคัญสำหรับทุกภาคส่วนในขณะนี้อยู่ที่สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองที่เกิด โดยพบว่า ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของ นักลงทุน ตลอดรวมจนถึงผู้ซื้อผู้เช่า เริ่มมีความระมัดระวังมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งได้ชะลอการตัดสินใจใดๆ ที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อรอดูสถานการณ์ ดังจะเห็นได้จากการที่บริษัทพัฒนาโครงการหรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ บางรายในช่วงนี้ ได้ชะลอกิจกรรมการตลาดหรือการส่งเสริมการขายที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากออกไปก่อน เนื่องจากไม่มั่นใจในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง”

 นางสุพินท์กล่าวต่อไปอีกว่า “แม้ประสบการณ์จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง มีผลกระทบที่เห็นได้ทันทีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความผันผวนทางเมืองที่ดำเนินมายาวนานต่อเนื่องในตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีผลกระทบระยะยาวต่อตลาดด้วยเช่นกัน ดังสะท้อนให้เห็นได้จากการที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาในไทย มีอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าหลายๆ ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันในช่วงปีที่ผ่านๆ มา”

ในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังจับตามองพัฒนาการของสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปัจจัยหนึ่งที่คาดว่าจะมีผลอย่างมากต่อทิศทางของเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์สำหรับปี 2557 คือสถานการณ์ทางเมืองในขณะนี้ว่าจะสามารถคลี่คลายได้เร็วและราบรื่นเพียงใด” นางสุพินท์สรุป