ฟันธงเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 56 ชะลอตัวลงจากภาวะตึงเครียดทางการเมือง นักท่องเที่ยวหวั่นเกิดอันตราย ตลอดจนบรรยากาศไม่เอื้อต่อการลงทุนและการใช้จ่าย แม้เศรษฐกิจภายนอกจะดีขึ้น ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก แต่สถานการณ์ภายในดูจะยืดเยื้อ คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตได้เต็มที่ไม่เกิน 3.5% หวังปี 57 เติบโตได้ 4 5% จากแรงหนุนปัจจัยบวก AEC
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า หรือ MPA NIDA ฟันธงเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 56 ชะลอตัวลงจากภาวะตึงเครียดทางการเมือง นักท่องเที่ยวหวั่นเกิดอันตราย ตลอดจนบรรยากาศไม่เอื้อต่อการลงทุนและการใช้จ่าย แม้เศรษฐกิจภายนอกจะดีขึ้น ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก แต่สถานการณ์ภายในดูจะยืดเยื้อ คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตได้เต็มที่ไม่เกิน 3.5% หวังปี 57 เติบโตได้ 4 – 5% จากแรงหนุนปัจจัยบวก AEC และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ด้วยภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป จีน และอินเดียเติบโต
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ภาวะภาพรวมเศรษฐกิจไทยตลอดปี 56 ต้องเผชิญสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศหลายประการ ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่แปรปรวน จากความผันผวนทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา การชะลอตัวจากเศรษฐกิจยุโรป ภาวะสงครามและการประท้วงในหลายประเทศ ล้วนสร้างผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย โดยครึ่งปีแรกของปี 56 ภาคการส่งออกของไทยเติบโตได้เพียง 0.95% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และหากพิจารณาเป็นรายไตรมาสแล้ว การส่งออกของไทยชะลอตัวติดต่อกันตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 56 จนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 56 ซึ่งเป็นการหดตัวลงถึง 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยมีสาเหตุมาจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น
ส่วนภาพรวมครึ่งปีหลังของปี 56 เศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น จากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณการฟื้นตัว หลังตัวเลขว่างงานลดลงจาก 7.9% ในเดือนธันวาคม เหลือ 7.0% ในเดือนมกราคม พร้อมทั้งเรื่องของมาตรการ QE ที่ลดปริมาณวงเงินลงในเดือนธันวาคม จาก 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน เหลือ 75,000 ล้านเหรียญต่อเดือน และคาดว่าจะมีการประกาศยกเลิกมาตรการ QE ลงในช่วงไตรมาส 3 ของปี 57 ซึ่งนับเป็นการบ่งบอกถึงสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่น ต่างเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ทำให้ภาคการส่งออกของไทยได้รับอานิสงค์ ขยายตัวถึง 4.5% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 56
รศ.ดร.มนตรี ยังกล่าวต่อว่า ส่วนปัจจัยภายในประเทศในครึ่งหลังปี 56 ยังตื่นตัวกับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณคงค้างของปี 56 แต่ด้วยงบประมาณแผ่นดินปี 57 ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เนื่องจากการยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และการยุบสภาของรัฐบาล ทำให้งบลงทุนในงบประมาณแผ่นดินปี 57 ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชะลอตัวลง สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หดตัวลงมาอยู่ที่ 0.85% ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเสมือนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นเมกะโปรเจคของภาครัฐ ภายใต้งบประมาณ 2 ล้านล้านบาทนั้น ทำให้ภาคเศรษฐกิจสามารถคาดการณ์ได้ว่า หาก พรบ. ดังกล่าวผ่าน งบประมาณ 350,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุนก้อนแรก จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเกิดการขยายตัวได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง High-Season ของภาคการท่องเที่ยวของไทยในช่วงปลายปี 56 นี้ ทำให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จากความกังวลในความไม่ปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ หลีกเลี่ยงที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 56 นี้ จึงสามารถขยายตัวได้ไม่เกิน 3 – 3.5% เท่านั้น
ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA กล่าวว่า ในปี 57 ปัจจัยเรื่อง AEC ยังเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ หนุนให้ภาวะเศรษฐกิจไทยเติบโต ซึ่งในปีหน้า 57 นี้ การลงทุนที่จะเข้ามาในประเทศไทย ด้วยปัจจัยหนุนด้าน AEC นั้น จะเป็นการลงทุนที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง คือเกิดเป็นการลงทุนในภาค Real Sector เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์อย่างเป็นทางการในปี 58 รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีนมีสถานการณ์ดีขึ้นเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้อุปสงค์ของประเทศเหล่านี้เกิดการขยายตัว ด้วยความที่ประเทศไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคการส่งออกมากถึง 72% และมีสัดส่วนการส่งออกกับอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องมากถึง 25.7% ของการส่งออกทั้งหมด ทำให้คาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นจากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศในภาคการลงทุน Real Sector เพื่อ AEC ในครึ่งหลังของปี 57 คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท อยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 63.5% ของขนาดเศรษฐกิจโลกนั้น เมื่อประเทศต่างๆ เหล่านี้ ส่งสัญญาณดีขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม และคาดภาคการส่งออกของไทยในปี 57 จะเติบโตได้ถึง 8%
ส่วนปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์ทางการเมือง ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคอยู่บ้าง แต่คาดว่าจะไม่รุนแรง หากกระบวนการยังคงอยู่ในกรอบ ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ไตรมาส สถานการณ์น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ พรบ. กู้เงิน 2 ล้านล้าน เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูงนั้น ยังคงเป็นปัจจัยบวกอีกประการหนึ่ง ที่จะช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 57 ซึ่งประเด็นนี้ยังคงต้องขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ จะช่วยเชื่อมโยง AEC ด้วยคมนาคมระบบราง ทำให้ไทยมีตลาดการค้าที่ใหญ่ขึ้น และส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้
นอกจากนี้ จากแรงหนุนของ AEC โดยเฉพาะที่จะเกิดการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นในภาคการลงทุนในปี 57 นั้น จะเน้นหนักไปที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ อาคาร ที่พักต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว จะส่งผลให้ตลาดทุนไทย กลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกครั้ง เนื่องจากหากพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานประกอบกับผลประกอบการของบริษัทแล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง คาดว่าในปี 57 จะได้เห็นดัชนีราคาหลักทรัพย์อยู่ที่ 1,600 จุด ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะได้รับความสนใจจากต่างชาติ ด้วยบรรยากาศเศรษฐกิจภายนอกประเทศที่ส่งสัญญาณดีขึ้น ตลอดจนธุรกรรมการค้าชายแดนจะเกิดการขยายตัว ส่งผลให้ภายในประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ภาคการบริโภคขยายตัว คาดว่าระดับอัตราเงินเฟ้อในปี 57 จะอยู่ในกรอบไม่เกิน 2.5% และจากสถานการณ์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่เกิดขึ้น คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตลอดปี และอาจจะมีโอกาสได้เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี 57 ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาที่มีทิศทางขาขึ้นได้ ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 57 จะเติบโตได้ 4 – 5% รศ.ดร.มนตรีกล่าว.