โรงงานน้ำตาลทรายเอาจริงในการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้และสิ่งปนเปื้อน เสนอมาตรการเชิงให้รางวัลและลงโทษ ให้อ้อยสด สะอาด เข้าหีบก่อน ตัดราคาอ้อยไฟไหม้ อ้อยสกปรก
โรงงานน้ำตาลทรายเอาจริงในการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้และสิ่งปนเปื้อน เสนอมาตรการเชิงให้รางวัลและลงโทษ ให้อ้อยสด สะอาด เข้าหีบก่อน ตัดราคาอ้อยไฟไหม้ อ้อยสกปรก กำหนดมาตรฐาน จัดอบรม และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ อีกทั้งจัดตั้งและจัดอบรมคณะทำงานหรือทีมงานตรวจสอบคุณภาพอ้อยตั้งแต่ในไร่อ้อยจนถึงโรงงาน และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นชุมชนสีเขียว ไม่เอาอ้อยไฟไหม้
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (Mr.Sirivuth Siamphakdee, President of the Thai Sugar Millers Corporation Limited’ s public relations working group) เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลสถานการณ์ปัญหาอ้อยไฟไหม้และอ้อยปนเปื้อนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย (ฤดูการผลิตปี 2554/55 และ 2555/56) พบว่า อ้อยไฟไหม้และสิ่งปนเปื้อนในอ้อย ยังเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย โดยพบว่า สัดส่วนอ้อยไฟไหม้ฤดูการผลิตปี 2555/56 คิดเป็น 65.79% หรือประมาณ 64.20 ล้านตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 100 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบฤดูการผลิตก่อนหน้านี้ ที่มีปริมาณอ้อยไฟไหม้ 65.53% หรือคิดเป็น 64.20 ล้านตันอ้อยจากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 97.97 ล้านตันอ้อย
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ในการประชุมเชิงปฏิบัติการในเดือนพฤศจิกายน 2556 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2556/57 ผู้บริหารโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่และฝ่ายโรงงานได้มีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้และสิ่งที่ปนเปื้อนมากับอ้อย โดยมีข้อเสนอแนะหลายประการ ที่หากร่วมกันนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังก็จะสามารถช่วยลดปัญหานี้ได้
นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า แนวทางส่วนใหญ่จะต้องเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างโรงงานและชาวไร่อ้อย เช่น การจัดอบรมให้ความรู้ถึงผลกระทบจากการเผาอ้อยและประโยชน์จากการตัดอ้อยสด, จัดอบรมให้ความรู้คนขับรถคีบอ้อยและคนตัดอ้อย เกี่ยวกับวิธีตัด คีบ กองรวม เรียงอ้อย และขึ้นอ้อย, จัดทำตกลงร่วมกันระหว่างชาวไร่อ้อย สมาคมชาวไร่อ้อย และโรงงาน ในจัดเก็บผลผลิตอ้อยสดและสะอาดเข้าหีบ, ทำลานคัดแยก ใช้หมอนรองอ้อยหรือแท่นรองอ้อย และสนับสนุนการใช้รถคีบของโรงงาน ซึ่งรถคีบและรถตัดอ้อยนี้ ควรจะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวในการใช้งานมากยิ่งขึ้น รวมถึงเสนอขอขยายระยะเวลาส่งคืนเงินกู้โครงการจัดซื้อรถตัดอ้อยของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และของ ธ.ก.ส.
มีข้อเสนอด้วยว่า ให้สร้างแรงจูงใจเกษตรกรให้ตัดอ้อยสด เช่น การให้รางวัล ประกาศชมเชย ให้สิทธิคิวอ้อยเข้าหีบก่อน หรือสนับสนุนเงินเกี๊ยว เป็นต้น ในทางกลับกัน ก็ควรกำหนดมาตรการลงโทษ เช่น มีระบบแจ้งเตือนชาวไร่อ้อย หัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสกปรก อาจใช้มาตรการทางสังคม ตัดราคาอ้อย หรืองดจ่ายใบคิว เป็นต้น ซึ่งก็เป็นข้อเสนอที่ควรพิจารณานำไปปฏิบัติ และขึ้นอยู่กับโรงงานแต่ละแห่ง คงไม่สามารถออกเป็นกฎตายตัวได้” นายสิริวุทธิ์กล่าวและว่า ในด้านของการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ไม่เผาอ้อยนั้น ควรมีการร่วมมือระหว่างโรงงานที่อยู่ใกล้เคียงกัน เพื่อใช้สื่อต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วิทยุชุมชน ป้ายประชาสัมพันธ์ และแผนพับ เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อให้การรณรงค์ได้ผล ควรดึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยอาจตั้งเป็นหมู่บ้านสีเขียว ซึ่งแสดงถึงการสนับสนุนอ้อยสด ไม่เอาอ้อยไฟไหม้ และร่วมกันจัดตั้งและจัดอบรมคณะทำงานหรือทีมงานตรวจสอบคุณภาพอ้อยตั้งแต่ในไร่อ้อยจนถึงโรงงาน และมีช่องทางการสื่อสารระหว่างกันในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การตัดอ้อย ลานอ้อย รถขนส่งอ้อย จุดป้อมแจ้งคิว ตาชั่ง จนถึงแท่นเทอ้อย เพื่อให้ได้คุณภาพผลผลิตอ้อยตามมาตรฐานที่กำหนด
แนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ที่นำเสนอมานี้ จะใช้ได้ผลมากน้อยเพียงใด คงต้องมีการติดตามประเมินผล และกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ร่วมกันทั้งฝ่ายโรงงานและชาวไร่อ้อย รวมทั้งต้องตรวจสอบเครื่องจักรในกระบวนการผลิตต่างๆ ของโรงงานเป็นระยะๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอ้อยสกปรกและสิ่งปนเปื้อน ซึ่งหากทุกฝ่ายสามารถทำงานประสานความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ก็น่าจะทำให้อ้อยที่จะเข้าหีบในฤดูการผลิตต่อๆ ไปมีคุณภาพดีขึ้น” นายสิริวุทธิ์ กล่าว