สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เชิญผู้ประกอบการรถยนต์กว่า 10 ราย เพื่อชี้แจงนโยบายส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ ขณะที่เอกชนต้องการให้บีโอไอยืดหยุ่นกรอบของโครงสร้างรถอีโคคาร์มากขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เชิญผู้ประกอบการรถยนต์กว่า 10 ราย เพื่อชี้แจงนโยบายส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ ขณะที่เอกชนต้องการให้บีโอไอยืดหยุ่นกรอบของโครงสร้างรถอีโคคาร์มากขึ้น |
. |
นายสาธิต ชาญเชาว์กุล เลขาธิการบีโอไอ กล่าวภายหลังเรียกผู้ประกอบการรถยนต์กว่า 10 ราย เข้าหารือ ว่า บีโอไอได้แจ้งให้ทราบนโยบายส่งเสริมการลงทุนรถอีโคคาร์ โดยบีโอไอยืนยันขอให้เอกชนยื่นข้อเสนอแผนการผลิตรถเข้ามาภายในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้เท่านั้น หลังจากนั้นจะไม่รับพิจารณา โดยการหารือวันนี้ (26 มิ.ย.) ภาคเอกชนได้แสดงความสนใจในเรื่องสำคัญ เช่น รายละเอียดของประกาศ กรมสรรพสามิตเรื่องภาษีรถอีโคคาร์ ว่าจะออกมาเมื่อใด โดยบีโอไอยืนยันว่าจะมีประกาศชัดเจนในปีนี้ เพื่อเป็นการยืนยันการผลักดันโครงการอีโคคาร์ ของรัฐบาลไทย รวมทั้งภาคเอกชนยังสนใจเรื่องเครื่องยนต์ว่าจะมีขนาดที่ยืดหยุ่นมากขึ้นหรือไม่ รวมถึงข้อกำหนดเรื่องปริมาณการผลิต ที่ต้องได้ 100,000 คัน ในปีที่ 5 ซึ่งในส่วนนี้ บีโอไออธิบายเพิ่มเติมว่า รถที่ส่งออกสามารถสับเปลี่ยนสเปก เช่นเครื่องยนต์ได้ เพราะมีบางประเทศอาจไม่ต้องการเครื่องยนต์แบบยูโร 4 และแต่ละบริษัทยังสามารถผลิตรถยนต์มากกว่า 1 แบบได้ด้วย |
. |
ด้านนายนินนาท ไชยธีระภิญโญ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า บริษัทเอกชนที่เข้ารับฟังคำชี้แจงของบีโอไอ ได้รับความกระจ่างร้อยละ 90 ซึ่งแต่ละรายจะกลับไปปรึกษาบริษัทแม่ เพื่อจะพิจารณาว่า จะเสนอเงื่อนไขอย่างไร และให้ทันวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ โดยเรื่องที่ภาคเอกชนให้ความสนใจอย่างมาก คือ เรื่องโครงสร้างตัวรถหรือแพลทฟอร์มของตัวถัง น่าจะมีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้บ้าง ซึ่งทางบีโอไอได้ให้ภาคเอกชนร่วมกันกำหนด โครงสร้างตัวถังอย่างง่ายมาให้บีโอไอพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์ |
. |
นอกจากนี้ เพื่อให้โครงการอีโคคาร์เกิดขึ้นได้และบรรลุเป้าหมาย 100,000 คัน ในปีที่ 5 ภาคเอกชนอยากให้การนับยอดรถในการผลิต นอกจากสเปกที่มีการกำหนดแล้ว น่าจะมีการนับรวมรถยนต์ส่งออกในสเปกอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากปีที่แล้ว ยอดส่งออกรถยนต์ในขนาดใกล้เคียงอีโคคาร์ มีจำนวนได้เกือบ 200,000 คัน โดยจะให้ค่ายเดียวครบ 100,000 คัน ใน 5 ปี เพียงบริษัทเดียวจึงเป็นเรื่องยาก ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวควรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น |
. |
และภาคเอกชนยังต้องการให้มีการยืดหยุ่นขนาดของเครื่องยนต์ที่บีโอไอกำหนดไว้ 1,300 ซีซี น่าจะกำหนดให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ไม่เกิน 1,600 ซีซี ซึ่งเรื่องนี้บีโอไอชี้แจงว่าเป็นเรื่องกรมสรรพสามิต แต่ภาคเอกชนต้องการให้บีโอไอช่วยเจรจาขยายขนาดเครื่องให้ เพราะที่ผ่านมา ประกาศส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ไม่ได้กำหนดขนาดตัวและเครื่องยนต์ แต่ข้อกำหนดกรมสรรพสามิตมีกำหนดไว้ และภาคเอกชนยังอยากให้กระทรวงอุตสาหกรรมมีความชัดเจน เรื่องสเปกรถที่จะได้ภาษีร้อยละ 17 เพราะหากไม่ชัดเจนก็จะก่อปัญหากับภาคเอกชนได้ในอนาคต |
. |
ที่มา : สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น |