ขยายขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทาง
รัฐบาล ขยายขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทาง ในส่วนของรถเมล์และรถไฟฟรี ระยะที่ 13 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง วันที่ 31 มีนาคม 2557 ใช้วงเงินดำเนินการกว่า 2,000 ล้านบาท
พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทาง ได้แบ่งเป็น มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง ดำเนินการผ่านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถโดยสารประจำทางธรรมดาจำนวน 800 คันต่อวัน ในเส้นทาง 73 เส้นทาง ให้บริการกับประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งได้ประมาณการค่าใช้จ่ายจำนวน 1,553 ล้านบาท และ มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 ?ดำเนินการผ่านรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 164 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกลในขบวนรถเชิงพาณิชย์จำนวน 8 ขบวนต่อวัน ให้บริการกับประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งได้ประมาณการค่าใช้จ่ายจำนวน 532 ล้านบาท เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนต่อเนื่อง
ด้าน นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี ได้ให้ กระทรวงคมนาคม ศึกษาแนวทางการสนับสนุนมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางที่มีความชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดการดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางระยะที่ 13 คาดว่า ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2557 โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า กระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านนโยบายของรัฐวิสาหกิจร่วมกับกระทรวงคมนาคม ควรเร่งศึกษาแนวทางการสนับสนุนมาตรการดังกล่าวให้ครบถ้วน มีประสิทธิภาพ และสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงได้
ขณะที่ สำนักงบประมาณ มีความเห็นว่า ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในมาตรการนี้ เนื่องจากเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างปีงบประมาณ 2557 ซึ่งพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาและผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ทำให้สำนักงบประมาณไม่มีกรอบวงเงินในการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายดำเนินมาตรการดังกล่าวได้
ดังนั้น เพื่อไม่ให้หน่วยงานทั้ง 2 ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องจากการดำเนินมาตรการตามนโยบายของรัฐบาล จึงเห็นควรให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) กู้เงินในวงเงิน 1,553 ล้านบาท ตามนัยมาตรา 7(7) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 และเห็นชอบให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กู้เงินในวงเงิน 532 ล้านบาท ตามนัยมาตรา 39(4) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อชดเชยการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้และให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายชดเชยเงินต้นและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นให้กับ ขสมก. และ รฟท. เพื่อใช้ในมาตรการดังกล่าว
แหล่งที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย