บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลยึดมั่นจุดขายหลัก จ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ ยืนหยัดจ่ายปันผลกองทุนกลุ่ม iFUND Series ไม่หวั่นแม้ตลาดผันผวนจากผลกระทบข่าวQE
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี - พรินซิเพิล จำกัด แจ้งข่าวประกาศจ่ายเงินปันผลและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ สำหรับ 4 กองทุน iFUND Series ซึ่งได้แก่ 1.กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล พร็อพเพอร์ตี้ อินคัม (CIMB-PRINCIPAL iPROP) 2. กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ดิวิเดนด์ อินคัม(CIMB-PRINCIPAL iDIV) 3.กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล คอร์ ฟิกซ์ อินคัม (CIMB-PRINCIPAL iFIXED) และ 4.กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เดลี่ อินคัม (CIMB-PRINCIPAL iDAILY)
อนึ่ง ทั้ง 4 กองทุนดังกล่าวข้างต้นนั้น ประกาศปิดสมุดทะเบียนกองทุนในวันที่ 30 กันยายน 2556 เพื่อจ่ายเงินปันผลสำหรับนักลงทุนที่ถือครองกองทุนในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2556 โดยกองทุนทั้ง 4 กองทุน จะจ่ายให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน 2 ชนิดคือ Class D และ Class R ซึ่ง Class D จะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 (เข้าบัญชีที่ลูกค้าแจ้งไว้) สำหรับ Class R จะทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 (เข้ากองทุน CIMB-PRINCIPAL TREASURY)
- กองทุน iPROP รับซื้อคืนอัตโนมัติครั้งที่ 6 ในอัตรา 0.25* บาทต่อหน่วย คิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 8% ต่อปี
สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/56 โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ร้อยละ 3.06*
- กองทุน iDIV รับซื้อคืนอัตโนมัติครั้งที่ 5 ในอัตรา 0.46* บาทต่อหน่วย คิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 12% ต่อปี
สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/56 โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ร้อยละ 19.74*
- กองทุน iFIXED รับซื้อคืนอัตโนมัติครั้งที่ 2 ในอัตรา 0.10* บาทต่อหน่วย คิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 4% ต่อปี
สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/56 โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่ตั้งกองทุนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.88*
- กองทุน iDAILY รับซื้อคืนอัตโนมัติครั้งที่ 4 ในอัตรา 0.065* บาทต่อหน่วย คิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 2.5% ต่อปี
สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/56 โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ร้อยละ 2.77*
นายเจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าวว่า ตลาดหุ้นทั่วไทยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาแม้ว่าอยู่ในภาวะผันผวน แต่ก็มีสัญญาณการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นหลังผ่านจุดต่ำสุดในเดือนสิงหาคม ที่อยู่ในระดับ 1,260 จุด โดยตลาดปรับตัวขึ้นมาปิด ณ สิ้นเดือนกันยายนที่ 1,383 จุดหรือเพิ่มขึ้น 7% หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED ได้กลับลำมีมติคงการอัดฉีดเงินเข้าในระบบเศรษฐกิจจำนวน 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งต่างจากการคาดการณ์จากนักลงทุนว่าน่าจะมีการลดลงของเงินดังกล่าวประกอบกับปัญหาทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และซีเรียไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น นอกจากนั้นตัวเลขภาคการผลิตในกลุ่มประเทศหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และยุโรป ก็ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ความผันผวนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาจาก 2 สาเหตุหลักคือ 1) การปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานราชการบางส่วน (US Partial Shutdown) ซึ่งเป็นเหตุมากจากการที่รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถกำหนดแผนงบประมาณของปี 2014 ได้ทันก่อนวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ผมมีความเห็นว่าเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นที่ไม่ได้กระทบปัจจัยพื้นฐานของประเทศแต่อย่างใด รวมถึงรัฐบาลสหรัฐก็มิได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าวและกำลังแก้ไขปัญหาซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ 2) ปัญหาเพดานหนี้ของประเทศที่ต้องแก้ไขให้ทันวันที่ 17 ต.ค. (Debt Ceiling) สหรัฐมีการกำหนดเพดานหนี้ที่ภาครัฐสามารถกู้ได้สูงสุด ซึ่งในปัจจุบันยอดการกู้ดังกล่าวได้ขึงขีดสูงสุดแล้ว โดยหากไม่สามารถขยายเพดานหนี้ได้ทันก่อนวันที่ 17 ต.ค. จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการจ่ายคืนหนี้ของประเทศ ซึ่งผมมองว่าเรื่องดังกล่าวก่อให้เกิดความผันผวนในระยะสั้น โดยรัฐบาลจะสามารถหาข้อสรุปเรื่อง Debt Ceiling และสามารถเพิ่มเพดานหนี้ได้สำเร็จก่อนถึงเส้นตายในวันที่ 17 ต.ค.
“สำหรับแนวโน้มการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล แนะนำ “เพิ่มน้ำหนัก” การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นและตราสารเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ คล่องตัวสูง สามารถลงทุนได้อย่างต่อเนื่องหรือสามารถใช้เป็นที่พักเงินลงทุนได้ดี ส่วนสินทรัพย์อื่นๆเช่นหุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ในระยะสั้นให้คำแนะนำ “คงน้ำหนัก” การลงทุน กล่าวคือถ้าผู้ลงทุนถือครองสินทรัพย์เหล่านี้ในสัดส่วนที่เหมาะสมแล้วให้ถือต่อไป ส่วนผู้ลงทุนที่ไม่มีสินทรัพย์เหล่านี้เลยและสามารถรับความเสี่ยงได้แนะนำให้ทยอยซื้อลงทุน
“สำหรับมุมมองการลงทุนต่อตลาดโลกต่อเนื่องไปถึงปีข้างหน้า ทางทีมงานด้านการลงทุนระดับภูมิภาคของบลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล มีมุมมอง “เพิ่มน้ำหนัก” ต่อการลงทุนหุ้นในประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐฯ จากแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่มีการใช้ทั้งนโยบายการเงินการคลัง และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่ญี่ปุ่นจะหลุดพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยเรื้อรังที่เป็นต่อเนื่องมานับสิบปี ในด้านเอเชียทางกลุ่มมีมุมมอง “คงน้ำหนัก” การลงทุนในหุ้นเอเชียจากเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้เกณฑ์ที่ดี แต่ความเสี่ยงเรื่องภาวะเงินทุนไหลออกยังคงมีอยู่บ้าง” นายเจษฎา กล่าว
นายเจษฎา กล่าวเสริมว่า แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะผันผวนเช่นนี้ ทางบริษัทยังคงยึดมั่นในจุดขายหลักของกองทุนกลุ่ม iFUND Series ประเภทคลาส R และ D ที่เน้นการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างกระแสเงินสดรับคืนให้ผู้ลงทุนเป็นประจำ โดยที่ผ่านมานับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนก็ทำการจ่ายปันผลได้อย่างต่อเนื่องในทุกๆไตรมาสโดยไม่มียกเว้น
ปัจจุบันกองทุน iFUND Series ภายใต้การบริหารของบลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ประกอบด้วย 1) CIMB-PRINCIPAL iPROP - อสังหาริมทร้พย์เพื่อรับรายได้จากค่าเช่าอย่างสม่ำเสมอ 2) CIMB-PRINCIPAL iFIXED - ตราสารหนี้สำหรับใช้เป็นสินทรัพย์หลักในพอร์ตการลงทุน 3) CIMB-PRINCIPAL iDIV - หุ้นปันผลและเติบโตสำหรับเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนในระยะยาว 4) CIMB-PRINCIPAL iDAILY- ตราสารหนี้ตลาดเงินสำหรับบริหารสภาพคล่อง 5) CIMB-PRINCIPAL iGOLD - ทองคำและกองทุนน้องใหม่ที่พึ่งปิด IPO ไปในเดือนที่ผ่านมาคือ 6) CIMB-PRINCIPAL iBALANCED –หุ้นและตราสารหนี้ที่ปรับสัดส่วนแบบซื้อถูก-ขายแพง โดยกองทุนกลุ่มดังกล่าวจะเน้นการลงทุนที่สินทรัพย์หลักของการลงทุนเพื่อช่วยนักลงทุนจัดพอร์ตการลงทุนและกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวม
สำหรับกองทุน iFUND Series ทุกกองจะมีคุณสมบัติหลักในการมอบทางเลือกให้ผู้ลงทุนผ่านหน่วยลงทุนแบบ Multi Share Class 3 ชนิด คือ 1. Class A -Accumulation เหมาะกับนักลงทุนรายย่อยหรือบริษัทที่ต้องการสะสมมูลค่าโดยนำผลตอบแทนการลงทุนที่ได้ไปลงทุนต่อ 2. Class R -Auto Redemption เหมาะกับนักลงทุนรายย่อยที่ต้องการรับรายได้แบบสม่ำเสมอผ่านการ Auto Redemption และ 3. Class D -Dividend เหมาะกับการลงทุนของบริษัทจำกัด และสถาบันการเงินที่ต้องการรายได้สม่ำเสมอในรูปของเงินปันผล (Dividend) ซึ่งถือเป็นอีกนวัตกรรมของกองทุนรวมในการเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้เหมาะกับนักลงทุนแต่ละประเภท